เตรียมพร้อมตอนรับปีใหม่จีน วันตรุษจีน วันเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ๆ

เตรียมให้พร้อมก่อนปีใหม่จีน หรือ “วันตรุษจีน” วันเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ ๆ ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างไร แล้ววันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว ตรงกับวันไหนบ้างมีอะไรที่ควรทำ

“วันตรุษจีน” หรือวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจีนถือเป็นวันสำคัญที่ชาวจีนหรือชนชาติเชื้อสายจีนจากทุกมุมโลก ต่างร่วมกันเฉลิมฉลองรวมถึงไทยด้วยที่เหล่าบรรดาลูกหลานชาวจีนให้ความสำคัญ โดยวันตรุษจีน 2566 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม แต่เคยรู้ไหมความเป็นมาวันตรุษจีนและกิจกรรมในวันตรุษจีนนั้นมีทำเนียบปฏิบัติและความเป็นมาอย่างไร

สำหรับชุมชนจีนที่เรียกว่า China Town ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เช่น ย่านเยาวราชและสำเพ็งในกรุงเทพฯ รวมถึงในตัวเมืองจังหวัดใหญ่ ต่างเต็มไปด้วยลูกหลานเชื้อสายจีนที่ยังคงดำรงรักษาวิถีการดำเนินชีวิตและการประกอบพิธีกรรมตามธรรมเนียมประเพณีมาอย่างเหนียวแน่น โดยการเฉลิมฉลองด้วยหลักการพื้นฐานในเรื่องความกตัญญูกตเวที ความยึดถือในวงศ์สกุลและบรรพบุรุษของตระกูล ชาวจีนมีความเชื่อว่าถ้าปฏิบัติธรรมเนียมได้อย่างถูกต้องตามประเพณีจะเกิดความเจริญมั่งคั่ง ความสันติสุขต่อวงศ์ตระกูล ตลอดจนความรุ่งเรีองของกิจการการค้าต่างๆ และความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของครอบครัว

ต้นกำเนิด วันตรุษจีน

“วันตรุษจีน” (Chinese New Year) ยังเป็นที่รู้จักในชื่อ “เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ” (Spring Festival) เนื่องจากเป็นการเฉลิมฉลองการสิ้นสุดฤดูหนาวและการเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ ผู้คนนิยมสักการะเทพเจ้าและบรรพบุรุษเพื่อขอพรให้พืชผลทางการเกษตรเจริญงอกงาม และให้ครอบครัวมีกิน มีใช้ตลอดทั้งปี ผู้คนเริ่มซื้อของขวัญ, สิ่งต่างๆ เพื่อประดับบ้านเรือน, อาหารและเสื้อผ้า การทำความสะอาดครั้งใหญ่ก็เริ่มขึ้นในวันก่อนตรุษจีน บ้านเรือนจะถูกทำความสะอาดตั้งแต่บนลงล่าง หน้าบ้านยันท้ายบ้าน ซึ่งหมายถึงการกวาดเอาโชคร้าย ออกไป ประตูหน้าต่างมีการขัดสีฉวีวรรณทาสีใหม่ซึ่งสีแดงเป็นสีนิยม ประตูหน้าต่างจะถูกประดับประดาด้วยกระดาษที่มีคำอวยพรอย่างเช่น อยู่ดีมีสุข ร่ำรวย และอายุยืน

เทศกาลนี้เริ่มต้นในวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจีน ทำให้วันตรุษจีนหรือเทศกาลปีใหม่จีนไม่ตรงกันในแต่ละปี และไม่ตรงกับวันขึ้นปีใหม่สากล โดยจะตกอยู่ในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี หรือช่วงสิ้นสุดฤดูหนาวและเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิที่อากาศเริ่มมีความอบอุ่นมากขึ้น ส่งผลให้สามารถเพาะปลูกและทำการเกษตรได้ ซึ่งในปีนี้ 2566 ตรงกับตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566 ชาวไทยเชื้อสายจีนจะถือประเพณีปฏิบัติอยู่ 3 วัน คือวันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว

วันจ่าย ตรงกับวันที่ 20 มกราคม 2566

คือวันก่อนวันสิ้นปี เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปซื้ออาหารผลไม้และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ก่อนที่ร้านค้าทั้งหลายจะปิดร้านหยุดพักผ่อนยาว ไม่จำเป็นจะต้องมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่

วันไหว้ ตรงกับวันที่ 21 มกราคม 2566

ชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมถือประเพณีปฏิบัติในเทศกาลตรุษจีนโดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา ตามประเพณีปฏิบัติได้แก่ วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว

  • ตอนเช้ามืดจะไหว้ “ป้ายเล่าเอี๊ย”เป็นการไหว้เทพเจ้าต่างๆ ด้วยเครื่องไหว้ เนื้อสัตว์สามอย่าง (ซาแซ ซำเช้ง) ได้แก่ หมู เป็ด ไก่ หรือเพิ่มตับ ปลา เป็นเนื้อสัตว์ห้าอย่าง (โหงวแซ) เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง

  • ตอนสาย จะไหว้ “ป้ายแป๋บ้อ” คือการไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูตามคติจีน การไหว้ครั้งนี้จะไหว้ไม่เกินเที่ยง เครื่องไหว้จะประกอบด้วย ซาแซ อาหารคาวหวาน พร้อมทั้งการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษเพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ หลังจากนั้น ญาติพี่น้องจะมารวมกันรับประทานอาหารที่ได้เซ่นไหว้ไปเป็นสิริมงคล และถือเป็นเวลาที่ครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะรวมตัวกันได้มากที่สุด จะแลกเปลี่ยนอั่งเปาหลังจากรับประทานอาหารร่วมกันแล้ว

  • ตอนบ่าย จะไหว้ “ป้ายฮ่อเฮียตี๋” เป็นการไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เครื่องไหว้จะเป็นพวกขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัดเพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายและเพื่อเป็นสิริมงคล

วันเที่ยว ตรงกับวันที่ 22 มกราคม 2566

วันเที่ยว หรือ วันถือ คือวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันที่หนึ่งของเดือนที่หนึ่งของปี วันนี้ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบันคือ “ป้ายเจีย” เป็นการไหว้ขอพรและอวยพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยนำส้มสีทองไปมอบให้ เหตุที่ให้ส้มก็เพราะส้มออกเสียงภาษาแต้จิ๋วว่า “กิก” ไปพ้องกับคำว่าความสุขหรือโชคลาภ ฉะนั้นการให้ส้มจึงเหมือนนำความสุขหรือโชคลาภไปให้ ส่วนเหตุผลที่เรียกวันนี้ว่าวันถือเพราะเป็นวันที่ชาวจีนถือเป็นวันแห่งความสิริมงคล งดการทำบาปยึดคติถือบางอย่าง เช่น ไม่พูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน ไม่จับไม้กวาด และจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่แล้วออกเยี่ยมอวยพรและพักผ่อนนอกบ้าน เป็นต้น

ทั้งนี้คติความเชื่อในเทศกาลตรุษจีนซึ่งดูแล้วมีความคล้ายกับเทศกาลสงกรานต์ของคนไทย ที่ถือเป็นการฉลองวันขึ้นปีใหม่และการแสดงออกในความเคารพนับถือต่อบรรพบุรุษ ด้วยความเชื่อของประเพณีที่มีพื้นฐานอย่างเดียวกัน คนไทยจึงรับธรรมเนียมตรุษจีนมาปฏิบัติด้วย ซึ่งราชสำนักไทยก็รับเอาธรรมเนียมในวันตรุษจีนมาปฏิบัติตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เช่นกันได้แก่ พิธีสังเวยพระป้าย ซึ่งก็คือพิธีเซ่นไหว้ป้ายบรรพบุรุษตามธรรมเนียมจีน โดยโปรดให้ทำพระป้ายจากไม้จันทน์และสลักอักษรจีนเป็นพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ เพื่อทำพิธีสักการะในช่วงวันตรุษจีน

นอกจากคนไทยเชื้อสายจีนที่ประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษในวันตรุษจีนแล้ว แม้แต่คนไทยที่ไม่มีเชื้อสายจีนก็รับเอาธรรมเนียมการเซ่นไหว้แบบจีนไปประยุกต์ใช้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ถือเป็นเทศกาลประเพณีวันสำคัญของคนไทยหลายๆคนที่ได้มีโอกาสนัดรวมญาติมิตรลูกหลาน และถือโอกาสเป็นวันเฉลิมฉลองของครอบครัวอีกเทศกาลหนึ่งเช่นกัน

คลิปอีจันแนะนำ
ทรงอย่างแบด กระหึ่มลานโชว์โลมา! @ซาฟารีเวิลด์