ไล่เรียงคดี “บิลลี่” หายตัว

ไล่เรียงคดี “บิลลี่” นักเรียกร้องสิทธิชาวกะเหรี่ยง ป่าแก่งกระจานหายตัว เมียยื่นฟ้อง ศาลเรียกไต่สวนชัยวัฒน์และพวก สู้ 3 ศาล ศาลยืนยกคำร้องทั้ง 3 ศาล

วานนี้ (3 ก.ย. 62) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แถลงข่าว พบหลักฐานเชื่อมโยงการหายตัวของบิลลี่ เจอถังน้ำมัน 200 ลิตร และชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์อยู่ใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน ภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ต่อมามีการนำชิ้นส่วนกระดูกไปตรวจสอบ พบมีสายพันธุกรรมสัมพันธ์กับแม่ของ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ที่หายตัวไปนาน 5 ปี

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

ย้อนกลับไปวันที่ 17 เม.ย 57 บิลลี่ ได้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเรียกตรวจสอบ และพบว่าบิลลี่จะนำน้ำผึ้งออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวอ้างว่า ได้ปล่อยตัวบิลลี่ พร้อมรถจักรยานยนต์และน้ำผึ้งของกลางไปโดยได้ว่ากล่าวตักเตือน ไม่ได้ดำเนินคดี แต่นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ และญาติเชื่อว่า บิลลี่หายสาบสูญไปโดยการถูกบังคับ

ต่อมาในทางคดีซึ่งภรรยาของบิลลี่ได้ไปร้องต่อศาล จ.เพชรบุรี กล่าวหาว่า บิลลี่ ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายจากกลุ่มเจ้าหน้าที่อทุยานฯ ศาล จ.เพชรบุรี ได้รับคำร้อง ไต่สวนพยานทั้งสองฝ่าย โดยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำร้อง แจ้งยื่นต่อศาลฎีกาตามลำดับ กระทั่งเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 58 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา ที่ 7237/2558 ของผู้ร้อง คือ นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ มีรายละเอียดดังนี้


#ศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ ยกคำร้อง !

คดีสืบเนื่องจากนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า

ผู้ร้องอยู่กินฉันสามีภริยากับนายพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ เมื่อวันที่ 17 เม.ย.57 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หน.อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จับกุมและควบคุมตัวนายพอละจี พร้อมยึดรถจักรยานยนต์และน้ำผึ้งเป็นของกลาง แต่นายชัยวัฒน์ไม่ได้นำตัวนายพอละจีไปดำเนินคดี จนกระทั่งปัจจุบันไม่มีผู้ใดพบเห็นหรือสามารถติดต่อนายพอละจีได้ เชื่อว่านายพอละจียังอยู่ในความควบคุมของนายชัยวัฒน์ อันเป็นการควบคุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 32 วรรคห้า และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ขอให้มีคำสั่งปล่อยนายพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ และให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เยียวยาความเสียหายตามที่ศาลเห็นสมควร ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา

ภาพจากอีจัน

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 บัญญัติว่า "เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดต้องถูกคุมขังในคดีอาญาหรือ ในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บุคคลเหล่านี้มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา ขอให้ปล่อย คือ

1. ผู้ถูกคุมขังเอง
2. พนักงานอัยการ
3. พนักงานสอบสวน
4. ผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัศดี
5. สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง

เมื่อได้รับคำร้องดังนั้น ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าศาลเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที

ภาพจากอีจัน

ตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อผู้มีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง ศาลที่รับคำร้องต้องดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวแล้ว พิจารณาว่าคำร้องของผู้มีสิทธิ์ยื่นคำร้องมีมูลหรือไม่ หากศาลเห็นว่าคำร้องมีมูลก็ให้ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขัง ให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน โดยให้ผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่า การคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย หากผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที


คดีนี้ ปรากฏตามคำร้องของผู้ร้อง ฉบับลงวันที่ 24 เม.ย.57 ว่า ผู้ร้องขอให้ศาลไต่สวนคำร้องโดยด่วน ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำพยานเข้าไต่สวนในวันเดียวกัน เมื่อผู้ร้องนำพยานเข้าไต่สวนตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่เดียวกัน ศาลชั้นต้นบันทึกว่า ได้ไต่สวนคำร้องพยานผู้ร้องได้ 2 ปาก ระหว่างไต่สวน ผู้ร้องอ้างส่งเอกสารประกอบการซักถาม 2 ฉบับ ศาลรับไว้หมาย ร.1 ถึง ร.2 เอกสารให้รวมสำนวนแล้ว ผู้ร้องแถลงติดใจไต่สวนพยานคำร้องเพียงเท่านี้

พิเคราะห์ข้อเท็จจริงตามคำร้องประกอบกับข้อเท็จจริงในการไต่สวนแล้ว เบื้องต้นได้ความจากฝ่ายผู้ร้องว่านายพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ หายตัวไป ไม่สามารถติดต่อได้ และกรณีมีการกล่าวอ้างว่านายพอละจี หายตัวไปในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรณีจึงมีเหตุอันควรสงสัยว่านายพอละจีอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานหรือไม่

เพื่อให้ข้อเท็จจริงกระจ่างขึ้น จึงเห็นควรให้มีหมายเรียก นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และนายเกษม ลือฤทธิ์ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กจ.6 (เขามะเร็ว) ให้มาไต่สวนตามคำร้อง

ภาพจากอีจัน

ต่อมา วันที่ 30 เม.ย.57 ศาลชั้นต้นไต่สวนนายเกษมและนายชัยวัฒน์แล้ว ศาลชั้นต้นเลื่อนไปไต่สวนนายชัยวัฒน์ต่อในวันที่ 12 พ.ค.57 เมื่อไต่สวนนายชัยวัฒน์เสร็จแล้ว ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 12 พ.ค.57 ว่า ทนายผู้ร้องแถลงขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานผู้ร้องอีก 3 ปาก คือ นายไพฑูรย์ แช่มเทศ นายบุญแทน บุษราคัม และนายกฤษณพงษ์ แช่มเทศ ศาลชั้นต้นจึงเลื่อนไปไต่สวนพยานผู้ร้องทั้งสามปาก


ครั้นวันที่ 2 มิ.ย.57 ผู้ร้องนำพยานทั้งสามปากเข้าไต่สวนจนเสร็จ แล้วแถลงขอเลื่อนให้ศาลไต่สวนพยานปาก นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ พนักงานสอบสวนในคดีนี้และนักศึกษาอีก 2 ปาก ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาวันที่ 16 มิ.ย.57 ผู้ร้องนำพยานเข้าไต่สวน 3 ปาก แล้วผู้ร้องแถลงขอเลื่อนไปไต่สวนพยานที่เหลือ ศาลชั้นต้นอนุญาต วันที่ 7 ก.ค.57 ผู้ร้องนำพยานเข้าไต่สวน 2 ปากแล้วแถลงติดใจให้ศาลไต่สวนพยานผู้ร้องเพียงเท่านี้ เห็นว่าเมื่อผู้ร้องนำพยานเข้าไต่สวนในวันที่ 24 เม.ย.57 รวม 2 ปาก แล้วผู้ร้องแถลงติดใจไต่สวนพยานผู้ร้องเพียงเท่านี้

ศาลชั้นต้นต้องพิจารณา คำร้องขอผู้ร้องและพยานที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนก่อนว่า คดีของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ หากเห็นว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูล จึงหมายเรียกนายชัยวัฒน์และนายเกษมกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตามคำร้องและทางไต่สวนของผู้ร้องอ้างว่าเป็นผู้คุมขังนายพอละจี ให้นำตัวนายพอละจีผู้ถูกคุมขังมาศาล และให้นายชัยวัฒน์กับพวกดังกล่าว แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าการคุมขังเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นกลับหมายเรียกนายชัยวัฒน์และนายเกษมมาไต่สวน นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ผู้ร้องนำนายไพฑูรย์ นายบุญแทน และนายกฤษณพงษ์ ซึ่งล้วนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายชัยวัฒน์และร่วมอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน อันอาจถือได้ว่าเป็นบุคคลที่ผู้ร้องอ้างว่าเกี่ยวข้องในการควบคุมตัวนายพอละจีเข้าไต่สวนอีก


การดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงไม่ได้เป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 กำหนดไว้ ดังนี้ การดำเนินการไต่สวนนายชัยวัฒน์กับพวกดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่อาจนำคำเบิกความของพยานดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ แต่เมื่อผู้ร้องนำพยานเข้าไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยว่า คำร้องของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณามีคำสั่งอีก เห็นว่าผู้ร้องมีตัวผู้ร้องเบิกความว่า

"เมื่อวันที่ 15 เม.ย.57 นายพอละจีออกจากบ้านไปโดยแจ้งผู้ร้องว่าจะไปเยี่ยมมารดา ซึ่งอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านโป่งลึก ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จนกระทั่งวันที่ 17 เม.ย.57 พี่ชายนายพอละจีโทรศํพท์มาสอบถามผู้ร้องว่า นายพอละจีกลับบ้านแล้วหรือยัง ผู้ร้องตอบว่ายัง วันที่ 18 เม.ย.57 ผู้ร้องจึงไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อติดตามหาตัวนายพอละจี ในวันเดียวกันผู้ร้องได้รับแจ้งจาก นายกระทง โชควิบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านท้องที่นายพอละจีพักอาศัยว่า นายพอละจีถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติควบคุมตัวไป

นายกระทงเดินทางไปสถานีตำรวจเพื่อขอประกันตัวนายพอละจีแต่ไม่พบ และนายกระทงเบิกความว่า เมื่อวันที่ 17 เม.ย.57 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา พยานได้รับโทรศัพท์จากพี่ชายนายพอละจีแจ้งว่า นายพอละจีถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุม เพื่อดำเนินคดีและขอร้องให้พยานไปประกันตัวนายพอละจีที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน"

วันที่ 18 เม.ย.57 พยานโทรศัพท์ไปยังเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน เพื่อสอบถามถึงนายพอละจี เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งว่า ไม่มีตัวนายพอละจีที่สถานีตำรวจ ต่อมาตอนบ่ายพยานเดินทางไปสถานีตำรวจดังกล่าว เพื่อสอบถามเรื่องนายพอละจี เจ้าพนักงานตำรวจบอกว่านายพอละจียังไม่ได้มาที่สถานีตำรวจ ครั้นเวลาประมาณ 20 นาฬิกา พยานไปสถานีตำรวจอีกครั้ง แต่ก็ไม่พบตัวนายพอละจี

หลังจากนั้นพยานโทรศัพท์ติดต่อนายพอละจี แต่ไม่มีคนรับสาย เห็นว่าผู้ร้องอ้างตามคำร้องว่า นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กับพวกควบคุมตัวนายพอละจีไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่พยานผู้ร้องทั้งสองปากไม่ได้รู้เห็นว่านายชัยวัฒน์กับพวกควบคุมตัวนายพอละจีไว้หรือไม่ ผู้ร้องได้รับการบอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจากนายกระทง ส่วนนายกระทงได้รับการบอกเล่ามาจากพี่ชายนายพอละจี ดังนี้ คำเบิกความของพยานผู้ร้องทั้งสองปากจึงเป้นพยานบอกเล่า ไม่อาจรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง”

ชั้นศาลฎีกา พิพากษายืน ยกคำร้อง!

โดยมีรายละเอียดดังนี้ “ส่วนนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนเป็นพยานเพิ่มเติมนั้นก็เป็นเพียงพยานแวดล้อม กรณีข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับชุมชนกะเหรี่ยง ในฐานะที่พยานเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและได้รับการร้องเรียนว่า มีการละเมิดสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง โดยพยานเองมิได้รู้เห็นเรื่องการหายตัวไปของนายพอละจีแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่านายชัยวัฒน์กับพวกควบคุมตัวนายพอละจีไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย คำร้องของผู้ร้องจึงไม่มีมูล ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล พิพากษายืน”

รวมคลิป ใครฆ่าบิลลี่?