
นายณัฐกร อุเทนสุต รองโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยหลังการสัมมนาภาษีความหวานกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม
ในวันที่ 1 ต.ค. 2562 นี้ อัตราภาษีของเครื่องดื่มที่มีความหวานจะปรับขึ้นอีกเท่าตัว
จากการปรับขึ้นอัตราภาษีครั้งนี้ เพราะผู้ประกอบการยังไม่ค่อยปรับเปลี่ยนเรื่องความหวานมากนัก เพราะกลัวผลกระทบต่อยอดขายให้ลดลง มีบางยี่ห้อออกผลิตภัณฑ์ใหม่หวานน้อยลง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค แต่ยังขายผลิตภัณฑ์เดิมที่มีปริมาณน้ำตาลเท่าเดิม
ส่วนหนึ่งผู้ผลิตจะแบกรับภาระต้นทุนภาษีนั้นไว้เอง และบางส่วนผลักภาระภาษีไปให้บริโภค โดยประเมินว่าหลังจากปรับขึ้นภาษีใหม่วันที่ 1 ต.ค.นี้ จะทำให้กรมสามารถจัดเก็บภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 1,500 ล้านบาทต่อปี จากขณะนี้จัดเก็บ 2,000 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ ในวันที่ 1 ต.ค.2562 นี้ จะมีการปรับภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นทุก 2 ปี หากยังไม่สามารถลดปริมาณน้ำตาลได้ จะต้องเสียภาษีอีกเท่าตัว จากที่กรมเก็บภาษีความหวานได้อยู่ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี โดยอัตราภาษีใหม่จะทำให้ภาษีความหวานเพิ่มเป็น 3,500-4,500 ล้านบาทต่อปี
หากใครสงสัยว่าทำไมต้องจ่ายภาษีเพิ่ม
วันนี้จันจันมีข้อมูลจาก Global Agricultural Information Network
พบว่าปี 2557 พบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลถึง 28 ช้อนชาต่อวัน สูงกว่าค่าแนะนำเกือบ 5 เท่า ซึ่งเป็นสาเหตุให้คนไทยมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือดกันมากขึ้น
แนวคิดการเก็บภาษีน้ำตาลจึงเกิดขึ้น และเมื่อตุลาคม ปี 2562 นี้ เป็นช่วงที่ 2 ของการคิดอัตราภาษี ดังจะเห็นได้ว่าราคาสินค้าประเภทเครื่องดื่มที่ให้ความหวานจากน้ำตาล ทยอยปรับขึ้นราคาขาย เพื่อให้ราคาสินค้าที่มีน้ำตาลมากยิ่งราคาสูง ส่งผลต่อการตัดสินใจต่อผู้บริโภคโดยตรง เพื่อเป็นมาตราการลดการบริโภคน้ำตาลไปในตัว หรือเพื่อให้ผู้ผลิตปรับสัดส่วนปริมาณน้ำตาลให้ลดลงเพื่อไม่ต้องเสียภาษีความหวานจนต้องขึ้นราคาขาย
โดยมีหลักเกณฑ์คือ หากเครื่องดื่มมีปริมาณน้ำตาลเกิน 6 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร นั้นไม่ต้องเสียภาษี หากมีน้ำตาลเกินจากนี้จะถูกคิดภาษีตามอัตราก้าวหน้า หรือก็คือ ยิ่งมีน้ำตาลมาก ยิ่งเก็บในอัตราที่สูงขึ้น
- น้ำตาล 6 – 8 กรัม เสียภาษี 0.30 บาท ต่อลิตร
- น้ำตาล 10 – 14 กรัม เสียภาษี 1 บาท ต่อลิตร
- น้ำตาล 14 – 18 กรัม เสียภาษี 3 บาท ต่อลิตร
- น้ำตาลเกิน 18 กรัม เสียภาษี 5 บาท ต่อลิตร
ดังนั้นหากเห็นเครื่องดื่มที่ชื่นชอบขึ้นราคาในช่วงนี้ก็อย่าเพิ่งบ่นไป อยากให้ลองใช้โอกาสนี้ลดปริมาณการบริโภคน้ำตาลดูบ้างก็น่าจะดี ถือเป็นการควบคุมปริมาณเพื่อคงสุขภาพที่ดีไว้ นอกจากนี้หมั่นหาเวลาออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละคน อย่างน้อยเพื่อสุขภาพที่ดี ก็ควรออกกำลังกายเบาๆ ครั้งละ 30 นาที ให้ได้ซัก 4 วันต่อสัปดาห์
แน่นอน เมื่ออัตราการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น ดังนั้นทางเครื่องดื่มหลายตัวจะมีการขยับราคาขึ้น อย่างตอนนี้น้ำอัดลม ได้ประกาศขึ้นราคาแล้ว 2-3 บาทต่อขวด
โดยบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ SPBT ออกแถลงการณ์ การปรับขึ้นราคาดังกล่าวว่า เป็นไปตามกลยุทธ์การกำหนดราคาสินค้าของ SPBT โดยกลยุทธ์นี้จะรวมถึงการเปิดตัวสินค้าขนาดใหม่ และการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าให้เหมาะสมตามกลไกของตลาด
สำหรับสินค้าที่มีการปรับขึ้นราคาขายปลีกแนะนำมี 3 ขนาด ได้แก่ เครื่องดื่มเป๊ปซี่ ขนาด 345 มิลลิลิตร เป็นราคา 12 บาท , ขนาด 430 มิลลิลิตร เป็นราคา 15 บาท และขนาด 640 มิลลิลิตร เป็นราคา 17 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป
ฟาก ‘โคคา-โคลา’ ก็มีการปรับราคาขึ้นเช่นกัน ในส่วนน้ำอัดลมทั้งน้ำดำและน้ำสี ขนาด 330 มิลลิลิตร จากราคา 10 บาท เพิ่มเป็น 12 บาท ,ขนาด 450 มิลลิลิตร จาก 12 บาท เป็น 15 บาท , ขนาด 590 มิลลิลิตร จาก 15 บาท เป็น 17 บาท ส่วนน้ำอัดลมสูตรไม่มีน้ำตาลก็ยังขายราคาเท่าเดิม
ขณะที่เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลประเภทอื่น ๆ อาทิ ชาเขียว , เครื่องดื่มชูกำลัง , ฟังก์ชั่นนอลดริ๊งค์ คาดว่า จากนี้จะมีการขยับราคาเพิ่มขึ้น และบางรายเลือกจะคงราคาเดิมไว้ แต่หันมาลดปริมาณแทน เพราะการปรับขึ้นราคาในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเช่นนี้ อาจส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคได้
จันเห็นแบบนี้แล้ว คงต้องลดความหวานลงบ้างแล้วหล่ะ ไม่งั้นจันต้องเป็นทั้งโรคเบาหวานและโรคทรัพย์จางแน่ๆ