จีนใช้ผลิต ‘หัวใจเทียม’ จากเทคโนโลยีอวกาศ หวังช่วยผู้ป่วยนับล้าน!

จีนผลิต ‘หัวใจเทียม’ โดยใช้เทคโนโลยีอวกาศผลิต มีขนาด เล็ก เบา ถูก หวังช่วยผู้ป่วยนับล้าน!

วันนี้ 10 ก.ย. 2562 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2562 คณะนักวิทยาศาสตร์จีนเตรียมนำ “หัวใจเทียม” จากเทคโนโลยีการบินและอวกาศทดสอบทางคลินิกภายในปี 2019 คาดว่าผลสำเร็จช่วยชีวิตผู้ป่วยหัวใจอ่อนแรงหลายล้านคนในประเทศ

ภาพจากสำนักข่าวซินหัว
ภาพจากสำนักข่าวซินหัว

ฮาร์ตคอน (HeartCon) ซึ่งเป็นหัวใจเทียมที่มีน้ำหนักเพียง 180 กรัมและขนาดเล็กกว่ากำหมัด ได้รับการพัฒนาโดยคณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยหมายเลข 18 สังกัดสถาบันเทคโนโลยีจรวดขนส่งแห่งประเทศจีน (CALVT)

สวีเจี้ยน หัวหน้าวิศวกรโครงการฮาร์ตคอน กล่าวว่า หัวใจเทียมทำหน้าที่เหมือนเครื่องสูบน้ำที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย มีหลักการทำงานคล้ายกับเซอร์โวแมคคานิกส์ (servomechanism) หรือกลไกควบคุมการขับเคลื่อนจรวด

นักวิทยาศาสตร์จีนเริ่มพัฒนาหัวใจเทียมในปี 2009 โดยใช้แม่เหล็กและการยกของเหลวให้ลอยตัวด้วยแม่เหล็กจากเทคโนโลยีเซอร์โวของจรวด เพื่อผลิตเครื่องช่วยการเต้นของหัวใจห้องล่างรุ่น 3 ที่สร้างความเสียหายต่อเลือดน้อยลง

หัวใจเทียมนี้ถูกทดสอบในสัตว์หลายครั้ง โดยปี 2013 แกะที่ถูกปลูกถ่ายฮาร์ตคอนมีชีวิตอยู่ได้ 120 วัน อีกสองปีต่อมาทดลองในแกะ 3 ตัว ซึ่งรอดชีวิตทั้งหมด และปี 2017 ทดลองในแกะ 6 ตัว โดยตัวหนึ่งมีชีวิตอยู่ได้ 180 วัน

นอกจากนั้นยังมีการทดสอบในมนุษย์ โดยชายวัย 39 ปี และหญิงวัย 62 ปี เป็นผู้ป่วยสองรายแรกที่ถูกปลูกถ่ายฮาร์ตคอนในนครเทียนจิน เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันต่างมีสุขภาพแข็งแรงดี

ภาพจากสำนักข่าวซินหัว

เหรินว่านเฟิง ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือดของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวว่าการใช้ยารักษาหยั่งผลลัพธ์ไม่เท่ากับการปลูกถ่าย แต่การปลูกถ่ายก็เผชิญข้อจำกัดตรงขาดแคลนผู้บริจาค 

ผู้ป่วยจำนวนมากจำต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อรับการปลูกถ่ายหัวใจเทียมที่อาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.1 ล้านบาท) แต่คณะนักวิจัยชี้ว่าฮาร์ตคอนจะมีราคาถูกกว่า ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างน้อย 10 ล้านคนในจีน
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าหัวใจเทียมฮาร์ตคอนจะได้รับอนุมัติให้จัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ภายใน 2 ปีข้างหน้า

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.xinhuathai.com