บูรณาการจับกุมเรือประมงผิดกฎหมาย ในน่านน้ำไทย

กองทัพเรือ บูรณาการกรมประมง กรมเจ้าท่า จับกุมเรือประมงผิดกฎหมาย

กองทัพเรือ กรมประมง และกรมเจ้าท่า ร่วมกันจับกุมเรือชื่อ UTHAIWAN สัญชาติแคมมารูน ตามที่แสดงในระบบรายงานตนอัตโนมัติ (AIS – Automatic identification System) โดยเรือดังกล่าวเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ขนาด 3000 ตันกรอส ถูกจับกุมในเขตน่านน้ำไทย บริเวณชายฝั่งจังหวัดพังงา

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกว่า กรมประมงได้รับประสานของเรือลำดังกล่าวจากเครือข่ายองค์กรในระดับสากลที่ทำหน้าที่ในการติดตาม เฝ้าระวัง การทำการประมงผิดกฎหมายในประเทศอังกฤษ (OceanMind) เนื่องจากคาดว่าเป็นเรือที่ถูก IOTC ประกาศว่าเป็น เรือ IUU ชื่อ Wisdom Sea Reefer สัญชาติ Honduras กรมประมงจึงได้สั่งการให้ศูนย์ติดตามและเฝ้าระวังการทำประมง (FMC) ดำเนินการติดตามเรือลำดังกล่าวทางระบบ AIS ตั้งแต่เรือออกจากท่าที่ประเทศกัมพูชาในวันที่ 2 กันยายน 2562 โดยเรือลำดังกล่าวได้เดินทางผ่านช่องแคบมะละกา และเขตเศรษฐกิจจำเพาะเของมาเลเชีย เข้ามาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย และในวันที่ 12 กันยายน 2562 เรือลำดังกล่าว ได้แล่นเข้ามาในเขตราชอาณาจักรของไทย โดยไม่มีการแจ้งกรมเจ้าท่า
ภาพจากอีจัน
ต่อมาเรือลำดังกล่าวได้ปิดระบบ AIS ทำให้ศูนย์ FMC ไม่สามารถติดตามเป้าหมายได้ เวลาประมาณ 21.00 น. วันที่ 13 กันยายน 2562 เรือลำดังกล่าวได้เปิดระบบ AIS ทำให้ ศูนย์ FMC และ OceanMind ที่ติดตามเฝ้าระวังอยู่สามารถติดตามเป้าหมายได้ โดยศูนย์ FMC ได้ประสานงาน กองทัพเรือ โดย ศร.ชล. ภาค 3 และกรมเจ้าท่า เพื่อดำเนินการออกทำการจับกุมและควบคุมเรือดังกล่าว ทั้งนี้ ศร.ชลภาค 3 ได้สั่งการให้เรือ หลวงศรีราชา และ เรือ ต.113 ออกปฏิบัติการ และศูนย์ FMC ได้ประสานงานเรือเร็วของภาคประชาชนในจังหวัดภูเก็ต เพื่อนำชุดสหวิชาชีพจาก ศูนย์แจ้งเข้าแจ้งออกเรือประมง จังหวัดภูเก็ต ออกฎิบัติการ โดยทางศูนย์ FMC ทำหน้าที่อำนวยการติดตามเป้าหมาย และเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2562 ชุดสหวิชาชีพร่วมกับชุดตรวจค้นจากเรือ ต.113 ได้ขึ้นทำการตรวจสอบเรือลำดังกล่าว
ภาพจากอีจัน
จากการตรวจสอบพบว่ามีลูกเรือจำนวน 8 คน เป็นชาวไทยทั้งหมด จึงได้แจ้งข้อกล่าวหามีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 และ พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 94 ห้ามมิให้ผู้ใดนำเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย ที่มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร และควบคุมเรือลำดังกล่าวเดินทางกลับมายังท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย โดย พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ประธานอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ศปมผ. จะนำทีมในการสอบสวนเอง นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวต่ออีกว่า ว่าการปฏิบัติการเป็นการบูรณาการร่วมมือกันอย่างแท้จริง ทั้งจาก OceanMind กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง และที่สำคัญที่สุดคือ ภาคประชาชน จังหวัดภูเก็ตที่อนุญาตให้ใช้เรือธัญวิสิทธิ์ 5 และพร้อมออกปฏิบัติการได้ภายในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงหลังจากที่ ศูนย์ FMC ประสานไป ซึ่งภารกิจครั้งนี้หากขาดภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งแล้วคงไม่สามารถจะประสบผลสำเร็จได้ด้วยดี เหตุการณ์ครั้งนี้คงเป็นเครื่องพิสูจน์ขีดความสามารถ ความมุ่งมั่น ตั้งใจของประเทศไทยในการต่อต้านการทำการประมงผิดกฎหมาย เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำและความมั่นคงทางอาหารของโลกต่อไป