เสือโคร่ง วัดป่าหลวงตาบัว ตายแล้ว 84 ตัว

อุทยานฯ แจงสาเหตุการตายของเสือโคร่ง วัดป่าหลวงตาบัว หลังทยอยล้มตายกว่า 80 ตัว

จากกรณีเสือโคร่ง ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตรวจยึดจากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี จำนวน 147 ตัว และ นำมาดูแล ณ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี ซึ่งต่อมาเสือโคร่งของกลาง ทยอยตายลงเรื่อยๆ จน ณ ขณะนี้ เสือโคร่ง ตายไปทั้งหมด 86 ตัว

ลูกเสือโคร่ง

ต่อมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงกรณีสาเหตุการตายของเสือโคร่ง ที่รับมาจากวัดหลวงตาบัวญาณสัมปันโน จังหวัดกาญจนบุรี โดยนายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า

จากการ ที่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เข้าตรวจยึด เสือโคร่งภายใน สำนักสงฆ์ (หลวงตาบัว) จำนวน 7 ตัว เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2544 ซึ่งขณะการเคลื่อนย้าย มีเสือโคร่ง 1 ตัวตาย ทำให้เหลือเสือโคร่ง 6 ตัว ซึ่งเสือโคร่งและสัตว์ป่าอื่นๆ ที่อยู่ภายในบริเวณพื้นที่ของสำนักสงฆ์หลวงตาบัว ตกเป็นของแผ่นดินเนื่องจากไม่มีบุคคลใดมาแสดงตนเป็นเจ้าของ

โดยทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ พยายามที่จะจัดการกับเสือโคร่งของกลาง แต่ไม่สามารถดำเนินการย้ายออกมาจากวัดได้ จนเสือโคร่งได้สืบขยายพันธุ์เพิ่ม เป็น 147 ตัว ภายในไม่กี่ปี

เสือโคร่ง
และเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้รับแจ้งว่ามีเสือโคร่งสูญหายไปจากสถานที่เลี้ยงดูสัตว์ป่า ภายในวัดป่าหลวงตาบัวฯจำนวน 3 ตัว กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ จึงเข้าไปเคลื่อนย้ายเสือโคร่งจากวัดป่าหลวงตาบัว โดยเริ่มทยอยเคลื่อนย้ายบางส่วนในเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 2559 จำนวน 10 ตัว และขนย้ายที่เหลือทั้งหมดช่วงเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน 2559 นำไปเก็บรักษาไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จำนวน 85 ตัว สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จำนวน 62 ตัว รวม 147 ตัว ซึ่งจากการตรวจสอบ DNA พบว่าส่วนใหญ่เป็นเสือโคร่งสายพันธุ์ไซบีเรีย และเกิดจากการผสมพันธุ์กันเอง
เสือโคร่ง

ต่อมา เสือโคร่งที่รับมาจาก วัดหลวงตาบัวฯ ก็เริ่มมีปัญหาการเจ็บป่วย/ตาย
นายสุนทร ฉายวัฒนะ หัวหน้ากลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า เล่าว่า การเคลื่อนย้ายเสือโคร่งของกลาง จากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี จำนวน 147 ตัว เป็นการดำเนินการในภาวะไม่ปกติ
เสือโคร่งที่เคลื่อนย้ายมา ส่วนใหญ่มีภาวะเครียด เนื่องจากการขนย้ายและเปลี่ยนสถานที่
แต่ต่อมาพบปัญหา การเจ็บป่วยระบบทางเดินหายใจ มีอาการหายใจเสียงดังเป็นส่วนใหญ่
ซึ่งเป็นอาการอัมพาตลิ้น กล่องเสียง ทำให้การหายใจเข้าออกลำบาก
และเมื่ออาการหนักมากขึ้นจะไม่กินอาหาร จนมีอาการชักเกร็ง และตาย ในที่สุด

เสือโคร่งตาย
และยังพบว่า เสือโคร่ง มีการติดเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัข (CanineDistemperVirus,CDV) เป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสุนัข และ สัตว์ป่าหลายชนิดรวมทั้งเสือโคร่ง แต่ปัจจุบันยังไม่มียารักษา เป็นการเฉพาะทำได้เพียงการรักษาตามอาการ ซึ่งภายหลังจากการติดเชื้อจะพบอาการผิดปกติในระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร ซึ่งสัตวแพทย์ได้ดำเนินการรักษาตามอาการ และกำหนดแนวทางในการดูแลเสือโคร่งที่เหลืออยู่ ให้มีอัตราการตายลดลงและมีสวัสดิภาพที่ดีขึ้น
เสือโคร่ง
ข้อมูลจำนวนเสือโคร่งในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า เขาสน นายสุนทร หัวหน้ากลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ให้ข้อมูลว่า สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง ระหว่างเดือน พ.ค.59 – 15 ส.ค. 62 มีจำนวนเสือโคร่ง 45 ตัว เป็นเสือโคร่งที่รับมาจากวัดหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน คงเหลือ 31 ตัว จากที่รับมา 85 ตัว ตาย 54 ตัว ส่วน สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน ระหว่างเดือน มี.ค. 60 – ก.ค.62 มีเสือโคร่ง จำนวน 33 ตัว เป็นเสือโคร่งที่รับมาจากวัดหลวงตาบัวญาณสัมปันโน คงเหลือ 30 ตัว จากที่รับมา 62 ตัว ตาย 32 ตัว รวมแล้วรับเสือโคร่งจาก วัดหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จำนวน 147 ตัว คงเหลือ 61 ตัว ตาย 84 ตัว
เสือโคร่งตาย

นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การ ดูแลรักษาเสือโคร่งในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน มีสุขภาพที่ดี ลดอาการป่วย/ตาย จึงกำหนดมาตรการ การดูแลรักษาเสือโคร่ง ทั้งการคัดแยกเสือโคร่งตามอาการ การให้วัคซีนป้องกันโรค และควบคุมให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวอนามัย ภายในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าทั้ง ๒ แห่ง อย่าง เข้มงวด