ลูกช้างป่าทับลานหลงโขลง ขาหัก เจ้าหน้าที่เร่งรักษาให้แข็งแรงมากที่สุด

อัปเดตอาการ ลูกช้างป่าทับลานพลัดหลงโขลง ทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญยังคงดูแลอย่างใกล้ชิด ก่อนเข้าสู่การรักษาด้วยการผ่าตัด

วันนี้ (13 พฤศจิกายน 2566) นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยถึงอาการของลูกช้างป่าเพศผู้แรกเกิดที่พลัดหลงออกจากโขลง เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งโขลงช้างได้ออกจากป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน เข้าไปหากินภายในพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านตลิ่งชัน ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ซึ่งตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการเคลื่อนย้ายลูกช้างมาทำการรักษาที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ ทล.08 (ตลิ่งชัน) จากการตรวจร่างกายของลูกช้างพบว่า ลูกช้างมีกระดูกหักบริเวณหัวกระดูกต้นขาส่วนปลาย ที่ขาหลังด้านขวา ซึ่งอาการล่าสุดแผลที่ถลอกตามร่างกายรอยเก่าเริ่มแห้งขึ้น แต่ยังมีรอยแผลใหม่ตามร่างกายที่เกิดจากการเจ็บขาแล้วล้มตัวนอน ไม่มีบาดแผลฉกรรจ์ แผลที่สะดือยังไม่ปิดสนิทแต่มีขนาดโพรงแคบลง ซึ่งมีความลึกประมาณ 1.5 เซนติเมตร และพบเนื้อเยื่อสร้างหนองด้านในอีกเล็กน้อย สัตวแพทย์ได้ทำการล้างสะดือ ขัดหนองออก และใส่ยาฆ่าเชื้อต่อเนื่อง

นอกจากนี้ลูกช้างยังสามารถดูดกินนมจากขวดเองได้และมีความอยากกินนมดี ทางทีมแพทย์จึงได้ปรับปริมาณนมที่ให้กินต่อมื้อเพิ่มขึ้น พร้อมเสริมวิตามินซี และแคลเซียมแบบเม็ด โดยปริมาณการกินนมของลูกช้างเป็นไปตามแผนที่ทางทีมแพทย์วางไว้ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในการรักษาลูกช้างต่อไป

ส่วนอาการเจ็บขาหลังด้านขวา มีแนวโน้มของอาการรุนแรงขึ้นจากเดิม เนื่องจากมีกล้ามเนื้อบริเวณโคนขาหลังด้านขวาบวม แต่ยังสามารถใช้ขาข้างที่เจ็บแตะพื้นได้บ้างในลักษณะย่อขา มีอาการลากขาเป็นระยะ ยังคงแสดงอาการเจ็บขาและร้องเมื่อมีการเปลี่ยนท่า ซึ่งทางทีมสัตวแพทย์ได้ทำการรักษาเบื้องต้นเพื่อลดอาการปวด โดยการฉีดยาปฏิชีวนะ ให้ยากินลดปวด ลดอักเสบ ให้ยาป้องกันการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร ทายาลดปวดบริเวณขาทั้งสองข้าง พันผ้ายืดบริเวณโคนขาหลังขวาที่มีอาการบวม ช่วยพยุงให้ลุกยืนเมื่อแสดงอาการยืนเองลำบาก และกั้นคอกให้มีพื้นที่น้อยลงเพื่อจำกัดบริเวณให้เดินอย่างเหมาะสม

โดยหลังจากนี้ ทีมสัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะได้ทำการประสานงานปรึกษาแนวทางการรักษาลูกช้างกับทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาช้าง ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนวางแผนหาวิธีที่เหมาะสมเพื่อที่จะทำการรักษาได้อย่างเร่งด่วน เจ้าหน้าที่ยังคงเน้นดูแลลูกช้างให้มีความแข็งแรงมากที่สุด เพื่อเตรียมที่จะเข้ารับการผ่าตัดในขั้นตอนต่อไปโดยเร็ว

ทั้งนี้ทางอุทยานแห่งชาติทับลาน ได้ขอความร่วมมืองดผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใกล้ลูกช้าง เพื่อไม่ให้ลูกช้างเกิดความเครียดหรือเคลื่อนไหวเกินความจำเป็น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการรักษาได้

คลิปอีจันแนะนำ
ชีวิตใหม่ ช้างกันยา กับแม่รับ-แม่นม ที่เชียงใหม่