จบมหากาพย์ 9 เดือน ดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค”

กสทช.อนุญาต ควบรวม “ทรู-ดีแทค” แบบมีเงื่อนไขและข้อกังวล จบมหากาพย์ 9 เดือน ด้านสภาองค์กรของผู้บริโภคเตรียมฟ้องคุ้มครองชั่วคราว

นับตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.65 ที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อรวมธุรกิจระหว่างทรู-ดีแทค โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการให้บริการกับลูกค้า

เส้นทางการควบรวมกิจการระหว่าง “ทรู-ดีแทค” ใช้เวลาเดินทางนานถึง 9 เดือน ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและคัดค้านอย่างต่อเนื่อง โดยข้อกังวลใจของผู้บริโภค คือ เรื่องราคาค่าบริการที่กังวลว่าจะแพงขึ้น และการให้บริการ ซึ่งเหลือจำนวนผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 2 ราย จาก 3 ราย ซึ่งข้อกังวลนี้ กสทช. ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง

จวบจนวันที่ 20 ต.ค.65 กสทช.ใช้เวลาพิจารณาดีลนี้นานกว่า 10 ชั่วโมง จึงมีมติอนุญาตให้ “ทรู-ดีแทค” ควบรวมกิจการแบบมีเงื่อนไข โดยที่ประชุม กสทช.พิจารณาเกี่ยวกับข้อกังวล และเห็นชอบเงื่อนไขหรือมาตรการที่กำหนดให้ ทรู-ดีแทค ปฏิบัติตามหลังควบรวม ใจความดังนี้

ข้อกังวลเรื่องอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ มีเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ที่ กสทช. กำหนดให้ ทรูและดีแทค ปฏิบัติตาม เช่น การกำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ย ให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกของราคาที่แยกรายบริการเพื่อให้เป็นทางเลือก จัดช่องทางการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย ครอบคลุมและง่ายต่อการเลือกซื้อ เปลี่ยนแปลง (เพิ่ม ลด) การใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ตามความต้องการของผู้ใช้บริการปลายทาง โดยปราศจากข้อจำกัด

และคงทางเลือกของผู้บริโภค การกำหนดให้บริษัท TUC และ บริษัท DTN ยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี รวมทั้งประชาสัมพันธ์การให้บริการเพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ ภายหลังการรวมธุรกิจ เป็นต้น

ข้อกังวลอุปสรรคการเข้าสู่ตลาด – ขาดประสิทธิภาพการแข่งขัน และการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่ง กสทช. ได้มีเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะให้กับทรู-ดีแทค เพื่อปฏิบัติตาม เช่น ผู้รับใบอนุญาตที่เกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจตลอดจนบริษัทย่อยที่อยู่ภายใต้การควบคุม ต้องดำเนินการให้ผู้รับใบอนุญาต MVNO สามารถใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นได้เช่นเดียวกับตนเอง เป็นต้น

ข้อกังวลคุณภาพการให้บริการ กสทช.มีเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ให้ ทรู-ดีแทค ปฏิบัติตาม เช่น บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องไม่ลดคงจำนวนระบบสื่อสัญญาณ (cell sites) ของทั้งสองบริษัทลงจากเดิม เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของบริการที่ให้ประชาชนได้รับให้ไม่ต่ำไปกว่าเดิม และจะต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานของบริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคม อย่างเคร่งครัด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้วันนี้ ดีล “ทรู-ดีแทค” แฮปปี้เอนดิ้งแล้ว และ กสทช. ออกเงื่อนไขหรือมาตรการเพื่อกำหนดให้ปฏิบัติตามหลังควบรวมกิจการ แต่ก็ยังคงมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยและยังคงมีความกังวลใจ

โดยวันนี้ (21 ต.ค.65) มีรายงานข่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคเตรียมฟ้องคุ้มครองชั่วคราว กรณีควบรวม ทรู-ดีแทค และร้องคณะกรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เหตุ กสทช. ปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ พร้อมทั้งเตรียมขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉิน และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา กรณี กสทช. อนุญาตการควบรวมทรู-ดีแทค

ต้องติดตามต่อว่า ดีล “ทรู-ดีแทค” หลังจาก กสทช.อนุญาตให้ควบรวมจะจบลงแบบไหน จริง ๆ

คลิปอีจันแนะนำ
ไขให้รู้ทุกข้อสงสัย เมื่อไทยพบแผ่นดินไหว