อว.ปลื้ม ช่วย SME-สตาร์ทอัพ ดึงเทคโนโลยีช่วยทำมาหากิน

กระทรวง อว. ปลื้ม! “อุทยานวิทยาศาสตร์” ช่วยเอสเอ็มอี – สตาร์ทอัพ ขนไอเดียมาอัพเกรดธุรกิจต่อยอดนวัตกรรม ดึงเทคโนโลยีช่วยทำมาหากิน ขยายผลสู่ฐานรากเกษตรกร สร้างอาชีพให้ท้องถิ่น

เลขา รมว.อว. ปลื้ม! “อุทยานวิทยาศาสตร์” ติดอาวุธให้ “เอสเอ็มอี – สตาร์ทอัพ” ในภูมิภาคด้วยนวัตกรรม ขนไอเดียมาทดลองวิจัยก่อนลงทุนจริง อัพเกรดธุรกิจต่อยอดนวัตกรรม เปิดเส้นทางสู่ความสำเร็จ ขยายผลสู่ฐานรากเกษตรกร เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ให้ท้องถิ่น ดึงเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำมาหากิน เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้ประเทศ

โดย รศ.พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และประธานคณะทำงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ได้ร่วมกันเผยถึงการจัดตั้ง “อุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park)” ซึ่งมีทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่, อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น, อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.นครราชสีมา และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ จ.สงขลา โดยมีสถาบันอุดมศึกษาที่ร่วมในเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ทั้งหมด 44 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 14 มหาวิทยาลัย ภาคใต้ 10 มหาวิทยาลัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 9 มหาวิทยาลัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 9 มหาวิทยาลัย ภาคตะวันออก 1 มหาวิทยาลัย และภาคกลาง 1 มหาวิทยาลัย ซึ่งทั้งหมดรวมมหาวิทยาลัยทั้งมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยกลุ่มราชมงคลมหาวิทยาลัยราชภัฎเพราะกระทรวง อว. ดูแลมหาวิทยาลัยทุกกลุ่ม

รศ.พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าวต่อด้วยว่า สำหรับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินงานโดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่นี่มีแพลตฟอร์มสนับสนุนสตาร์ทอัพที่ชื่อว่า “Basecamp24” สร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและพร้อมผลักดันผู้ประกอบการให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีอุทยานฯ คอยเป็นพี่เลี้ยงนำทางในทุกเส้นทางการเติบโตแบบ 24 ชั่วโมง เพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุดอย่างรวดเร็ว ด้วยกระบวนการบ่มเพาะ พัฒนาศักยภาพ ซึ่งนับเป็นการจุดประกายไอเดียต่าง ๆ ให้เหล่านักธุรกิจ และได้ลงมือทำจริงผ่านการอบรมสร้างองค์ความรู้ ให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ การจับคู่กับแหล่งทุน สร้างเครือข่ายธุรกิจ พร้อมมอบโอกาสต่าง ๆ ในการเติบโตอย่างยั่งยืนและประสบความสำเร็จ

รวมทั้ง โรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (Innovative Food Fabrication Pilot Plant) ที่ให้บริการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม สำหรับผู้ประกอบการ SMEs หรือสตาร์ทอัพ ที่ต้องการเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้จำนวนมากขึ้น เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมอาหารในพื้นที่ รวมทั้งเป็นสะพานเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐ มหาวิทยาลัย เอกชน และภาคสังคม

“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราสามารถใช้ประโยชน์ในหน่วยงานรัฐ เชื่อว่าจะมี เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ จำนวนมากที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์กับ อุทยานวิทยาศาสตร์ เราอย่าเพียงแค่เรียน หรือศึกษาวิทยาศาสตร์ หรือศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆอย่างเดียว เราต้องทำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยทำมาหากิน เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ในประเทศ” รศ.พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์คือนิคมวิจัยพัฒนา เปรียบเหมือนกับนิคมอุตสาหกรรมที่มีบริษัทผลิตสิ่งของไปขาย ส่วนนิคมวิจัยเพื่อพัฒนาหรืออุทยานวิทยาศาสตร์คือการที่บริษัทมาอยู่กับนักวิจัยมาอยู่กับมหาวิทยาลัยได้ผลงานนวัตกรรมเข้าสู่ตลาด หลักการสำคัญของอุทยานวิทยาศาสตร์ คือการให้เป็นประตูในการเข้าถึงทรัพยากรที่ประเทศชาติลงทุนแล้วในมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถนำพาภาคเอกชน ภาคประชาสังคมเข้าไปใช้ประโยชย์งานวิจัย ห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัย ร่วมกับนักวิจัยเพื่อทำให้เกิดผลทางด้านการสร้างนวัตกรรมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ขณะนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมาณ 7,000 บริษัท ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามกระทรวง อว. มีหน่วยงานมากมายที่พร้อมให้ทุนสนับสนุน แทนที่เอกชน หรือผู้ประกอบการต้องจ่าย 100 เปอร์เซ็นต์ บางกิจกรรมวิจัยมีทุนสนับสนุนถึงร้อยละ 50 แล้วแต่กรณี

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ กล่าวอีกว่า สำหรับวิธีการทำงานในฐานะตัวกลางระหว่างมหาวิทยาลัยกับผู้ประกอบการ วิธีแรกคือการถ่ายทอดเทคโนโลยี นำงานวิจัยที่มีมาอัพเกรดแล้วส่งต่อถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการนำไปทำธุรกิจ วิธีที่สอง ผู้ประกอบการสามารถส่งโจทย์มาให้เรา จากนั้นเราจะไปหานักวิจัยมาช่วยได้ วิธีที่สาม เราเป็นหน่วยงานหนึ่งในการสร้างสตาร์ทอัพ ธุรกิจที่คนรุ่นใหม่อาจไม่ได้มีครอบครัวเป็นนักธุรกิจ แต่มีไอเดีย สนใจเทคโนโลยี สามารถมาสตาร์ทอัพกับเราได้ ทั้งนักศึกษา ศิษย์เก่า หรือใครก็ตามที่สนใจ แต่ต้องมีไอเดีย และใช้เทคโนโลยี สุดท้ายที่เราคือนำงานวิจัย องค์ความรู้ไปช่วยภาควิสาหกิจชุมชน ภาคประชาสังคม ทั้งนี้กลไกวิทยาศาสตร์ที่ อว. สนับสนุน ก็คือการนำสิ่งที่รัฐบาล หรือประเทศชาติมาลงทุนเพื่อ นำไปสู่การใช้ประโยชน์อีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจ ในพื้นที่ ในภูมิภาคมันหมุนด้วยความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรม นั่นคือหัวใจของประเทศชาติที่เราต้องการ

ทั้งนี้ สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 0 5394 8678

อีเมล: [email protected]

FB: https://www.facebook.com/cmustep Website: www.step.cmu.ac.th

คลิปอีจันแนะนำ
อีจันอยากเจอ กระทรวงน้องใหม่ ทำอะไรมากกว่าที่คิด