มูลนิธิพิทักษ์ฯเขาใหญ่ ร่วม ทร. และ ซีพี ปล่อย ปะการังเทียม ลงทะเล

เรื่อง ทรัพยากรธรรมชาติ ต้องรีบแก้ไข มูลนิธิพิทักษ์ฯเขาใหญ่ จับมือ ทร. และ ซีพี ปล่อย ปะการังเทียม ลงน้ำ มุ่งฟื้นฟู ท้องทะเล สัตหีบ

ใครๆก็ชอบเที่ยวทะเล ดำน้ำ ดูปะการัง แต่ถ้าวันหนึ่ง ปะการังไม่น่าดูแบบที่เคยเป็นแล้ว เราจะทำอย่างไร?

ปัญหาของทรัพยากรธรรมชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกสังกัด ต่างเร่งที่จะฟื้นฟูและซ่อมแซมกันมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับวันนี้ (22 เม.ย. 66) โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) จับมือกับ มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, กองทัพเรือ, ภาครัฐ, ภาคเอกชน และประชาชนจัดขึ้น เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2 เมษายน 2566 โดยได้รับเกียรติจาก พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์  ประธานองคมนตรี ในฐานะประธานมูลนิธิฯ เป็นประธานในพิธีวางปะการังเทียมเป็นปฐมฤกษ์ และมีพลเรือเอกเชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ, นายพรชัย จุฑามาศ กรรมการและเลขานุการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.), นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายสมพันธ์ จารุมิลินท ประธานคณะทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทะเลไทย มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ร่วมพิธี ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมวางปะการังเทียม สร้างบ้านปลา ปล่อยเต่าตนุ จำนวน 17 ตัว และปลูกต้นไม้ บริเวณหน้าหาดทิศตะวันออกของเกาะแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรีอีกด้วย

โครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริ ให้เกาะแสมสารเป็นแหล่งเรียนรู้ พระราชทานให้ดำเนินงานตั้งแต่ยอดเขาถึงใต้ทะเล เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2541 ทรงเน้นเรื่องการบริหารจัดการจำนวนนักท่องเที่ยว การจัดการพื้นที่ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการที่เหมาะสมสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์ เพราะมีผลกับเศรษฐกิจของท้องถิ่นชุมชน และความเสียหายอันจะเกิดกับทรัพยากร

มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กองทัพเรือ และหน่วยงานเครือข่าย จึงได้ร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในแนวปะการังบริเวณเกาะแสมสาร และมีการศึกษาวิจัยติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดฐานข้อมูลปะการังที่จะไปสนับสนุนการจัดทำผังพื้นที่ทางทะเล (Marine Spatial Planning; MSP) ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย และตัวชี้วัดด้านการบริหารจัดการปะการังในพื้นที่ดำเนินงาน

นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบการพิจารณา ยกระดับความสำคัญของพื้นที่หมู่เกาะแสมสาร เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Area; MPA) เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงของระบบนิเวศของพื้นที่อ่าวไทยตะวันออก รองรับกับการวางแผนการจัดการที่เหมาะสมของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor; EEC) พร้อมทั้งยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างจิตสำนึกแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ เกาะแสมสารอีกด้วย

โดยพลเอกสุรยุทธ์ กล่าวว่า กิจกรรมต่างๆล้วนแล้วแต่มีความมุ่งหมาย ในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ซึ่งก็ต้องขอฝากให้ชาวแสมสาร กองทัพเรือ และ หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ให้ดูแล สิ่งต่างๆที่เราทำในวันนี้ ให้ยั่งยืนสืบไป

จากนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ มอบตัวอย่างปะการังเทียม ให้ ทร. และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปวางในทะเล ด้านตอ.ของเกาะแสมสาร โดยหน่วยมนุษย์กบของกองทัพเรือต่อไป

ส่วน ปะการังเทียม มาจากไหน?

ปะการังเทียมจาก “โครงการรักษ์ทะเล” ดำเนินการโดยมูลนิธิ Earth Agenda ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ SCG นำเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution มาขึ้นรูปเป็นวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปะการังและสัตว์น้ำ ซึ่งที่ผ่านมา เคยวางมาแล้วหลายพื้นที่ทะเล และประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งในแต่ละฐานนั้น มีต้นทุนราวๆ 6,000-12,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและปริมาณปูนที่ใช้ในการก่อรูปขึ้นมา โดยทางมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเครือข่ายหน่วยงาน ร่วมสนับสนุนวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง ก่อนนำไปวางใต้ท้องทะเล เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูทรัพยากรทางท้องทะเลอย่างยั่งยืนต่อไป

คลิปอีจันแนะนำ
ลาก่อนนะหลินฮุ่ย