ทนายเกิดผลเคลียร์ชัด! ให้อาหารหมาแมวจรจัดไม่เท่ากับเป็นเจ้าของ

จบดราม่า ให้อาหารหมาแมวจรจัดท่ากับเป็นเจ้าของ ทนายเกิดผลเคลียร์ชัด! ให้อาหารหมาแมวจรจัดไม่เท่ากับเจ้าของ ยืนยันด้วยคำพิพากษาศาล

จากกระแสดราม่าเรื่องการให้อาหารหมา แมว = เจ้าของ / ผู้ดูแล ซึ่งข้อมูลนี้เป็นประกาศขององค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่ง ที่ระบุว่า…

ให้อาหาร = เจ้าของ / ผู้ดูแล

ขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้อาหารสัตว์จรจัดในที่หรือทางสาธารณะโดยเด็ดขาด เนื่องจากอาจสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา และก่อให้เกิดโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

พร้อมระบุว่า หากพบเห็นการกระทำดังกล่าว สามารถแจ้งข้อมูลพร้อมภาพถ่ายให้องค์การบริหารส่วนตำบล…. เพื่อดำเนินการติดตามต่อไป และมีเบอร์โทรศัพท์

เมื่อเพจเฟซบุ๊ก ที่นี่แปดริ้ว เผยแพร่ข้อมูลนี้ออกไปทำให้มีคนสนใจเป็นจำนวนมาก โดยมีคนกดไลก์กว่า 6 พันครั้ง คอมเมนต์กว่า 5 พันคอมเมนต์ และแชร์กว่า 2 พันครั้ง ซึ่งในส่วนของคอมเมนต์ก็มีความเห็นที่เหมือนและต่างกัน รวมทั้งมีการอธิบายข้อมูลและข้อเสนอแนะต่าง ๆ เช่น…

เพื่อคลายความสงสัยในประเด็นดราม่า ให้อาหารหมา แมว = เจ้าของ / ผู้ดูแล

อีจัน สอบถามไปยัง ทนายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความอิสระ เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว

ทนายเกิดผล บอกว่า การที่คนทั่วไปให้อาหารหมาแมวจรจัดในที่สาธารณะ และหมาแมวจรจัดเหล่านี้ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น กรณีนี้เคยมีประชาชนไปยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอเพิกถอนเกี่ยวกับเทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพ เรื่องการให้อาหารหมาแมวจรจัดเท่ากับเป็นเจ้าของ

โดยคำตัดสินที่ศาลปกครองสูงสุดเคยวินิจฉัยไว้ คือ หมาจรจัดที่คนให้อาหารเป็นครั้งคราว เป็นบางครั้งบางโอกาส ด้วยความเมตตา รวมถึงคนที่ให้อาหารประจำ แต่ไม่ได้เป็นผู้รับเลี้ยงรับผิดชอบชีวิตของสุนัขจรจัด ไม่ถือว่าเป็นเจ้าของสุนัขจรจัด มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.764/2556 ซึ่งอธิบายไว้ว่า…

การให้คำนิยามความหมายของคำว่า “เจ้าของสุนัข” หมายความรวมถึง “ผู้ให้อาหารสุนัขเป็นประจำด้วย” นั้น มีผลทำให้ประชาชนที่เพียงแต่ให้อาหารแก่สุนัขจรจัดเป็นประจำด้วยความเมตตา ต้องมีภาระหน้าที่ในการพาสุนัขจรจัดไปฝังไมโครชิปและจดทะเบียนสุนัข มิเช่นนั้นอาจทำให้บุคคลนั้นกระทำผิดกฎหมาย ทั้งที่หน้าที่ในการจัดการ ควบคุม ดูแลสุนัขจรจัด เป็นหน้าที่ของท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นกลับผลักภาระดังกล่าวมาให้กับประชาชน

ดังนั้น การให้บทนิยามดังกล่าว ที่ให้หมายความรวมถึง “ผู้ให้อาหารสุนัขเป็นประจำด้วย” จึงเป็นข้อบัญญัติที่ 1. สร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น 2. สร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร และ 3. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาให้เพิกถอนข้อบัญญัติฯ ข้อ 5 เฉพาะที่ให้ความหมาย “เจ้าของสุนัข” ว่า ผู้ให้อาหารสุนัขเป็นประจำด้วย

นอกจากนี้เมื่อหมาจรจัดไม่มีเจ้าของ และจะไปบังคับคนที่เลี้ยงประจำมารับผิดชอบก็ไม่ได้ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือ กรมปศุสัตว์ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ โดยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีที่ อ.1751/2559 ได้วินิจฉัยไว้ว่าให้เป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล หรือกรมปศุสัตว์ ที่จะต้องรับผิดชอบในการจัดการดูแลสุนัขจรจัด ซึ่งสุนัขเป็นสัตว์ควบคุมตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 เมื่อสุนัขจรจัดไปทำลายทรัพย์สิน หรือกัดผู้อื่นก่อให้เกิดความเสียหาย องค์การบริหารส่วนตำบล หรือกรมปศุสัตว์จึงต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้น ตามมาตรา 67 และ มาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ให้ราชการผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับเอกชนผู้ฟ้องคดี

สรุปดราม่าตามกฎหมายได้ว่า …ให้อาหารหมาแมว ไม่เท่ากับ เป็นเจ้าของ…

ทนายเกิดผล ย้ำว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนเรื่องการให้อาหารหมาแมวจรจัด ไม่เท่ากับการเป็นเจ้าของแล้ว องค์การบริหารส่วนตำบลดังกล่าว จึงไม่สามารถบอกได้ว่า การให้อาหารหมาแมวจรจัด เท่ากับ เป็นเจ้าของ

ส่วนเรื่องที่ถ้าหมาแมวจรจัดไม่มีเจ้าของ ไปกัดคนอื่น หรือสร้างความเดือดร้อน ใครต้องรับผิดชอบ

คำตอบ คือ องค์การบริหารส่วนตำบล หรือกรมปศุสัตว์ในพื้นที่ ยกเว้นเสียว่า บุคคลที่ให้อาหารหมาแมวจรจัดและนำหมาแมวจรจัดไปเลี้ยงในบ้านและยอมรับที่จะเป็นเจ้าของ

สรุปในสรุป ประกาศขององค์การบริหารส่วนตำบลดังกล่าว จึงขัดแย้งกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่เคยตัดสินออกมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม อีจัน เข้าใจทุกคนที่รักสัตว์ แต่ปัญหาหมาแมวจรจัดเป็นปัญหาที่คนในพื้นที่ต้องร่วมกันหาทางออกนะคะ

คลิปอีจัน แนะนำ