รัฐบาลอัดงบกว่า 13,000 ล้านเป็นค่าป่วยให้ อสม. และ อสส.

ครม.เห็นชอบ อัดงบกว่า 13,000 ล้าน ตอบแทนเป็นค่าป่วยให้ อสม. และ อสส. ไม่หวั่นขัดแย้งระหว่างพรรค

ครม.เห็นชอบ อัดงบกว่า 13,000 ล้านตอบแทนเป็นค่าป่วยให้ อสม. และ อสส. ไม่หวั่นขัดแย้งระหว่างพรรค

วันนี้ (8 มี.ค 66) นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เพิ่มค่าป่วยของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เป็นเดือนละ 2,000 บาท/คน ซึ่งต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจำนวน 13,081 ล้านบาท และเริ่มจ่ายค่าป่วยการอัตราใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ปีงบประมาณ 2567

ซึ่งมติดังกล่าวรัฐบาลภายใต้การกำกับของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์อาชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เห็นถึงความสำคัญของ อสม. และ อสส. ทั้งหมด 1,090,163 คน เพราะเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมระบบสุขภาพปฐมภูมิ เป็นหมอประจำบ้านช่วยงานด้านสาธารณสุขในชุมชน โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งค่าป่วยการของ อสม. และ อสส. เดือนละ 1,000 บาท เป็นอัตราที่ใช้มาตั้งแต่ธันวาคม 2561 แต่ปัจจุบันภารกิจเพิ่มขึ้นตามนโยบายรัฐบาลที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค 

อสม. และ อสส. ต้องมีหน้าที่คัดกรองเพื่อประเมินภาวะสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน ช่วยคัดกรองโควิดระยะ Post-Pandemic และติดตามผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติดในระบบสมัครใจบำบัด จึงพิจารณาเพิ่มค่าป่วยเพื่อตอบแทนความทุ่มเทในการทำงาน

นายธนกร กล่าวอีกว่า การเพิ่มค่าป่วยการ อสม. และ อสส. ถือเป็นผลงานของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ และเป็นความร่วมมือของพรรคร่วมรัฐบาลทุกฝ่าย จึงไม่เป็นห่วงว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งบานปลายระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลในการนำนโยบายไปใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะเป็นผลงานร่วมกันของทุกคน ตลอดระยะเวลาการทำงานของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีได้เน้นนโยบายการดูแลกลุ่มเปราะบาง ย้ำเรื่องการใช้งบประมาณให้คุ้มค่าเพื่อเกิดประโยชน์กับประชาชนที่สุด ทุกโครงการที่ทำเพื่อประชาชนตามเงื่อนไขข้างต้นนายกรัฐมนตรีอนุมัติทุกโครงการ ดังนั้นเมื่อเป็นผลงานของรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลสามารถนำไปต่อยอดเพื่อสานต่อนโยบายได้ 

นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้เร่งรัดการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของไทย (National Health Information Platform) เชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพ อำนวยความสะดวกให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงระบบสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ครอบคลุมการให้บริการผ่านโรงพยาบาลทุกระดับกว่า 15,000 แห่ง รองรับการให้บริการทางการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น

ขอบคุณข้อมูล: รัฐบาลไทย

คลิปอีจันแนะนำ
นาทีหนีตาย ก่อนเหตุสลด