รวบเทศกิจเขตดุสิต เรียกรับผลประโยชน์

รวบเทศกิจเขตดุสิต เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง

วันนี้ (10 ต.ค.66) พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. พร้อมฝ่ายสืบสวน ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. นำโดย นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. นำโดย นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ร่วมกันจับ นายสมพงษ์ อายุ 59 ปี ดำเนินคดีในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตาม ป.อาญา มาตรา 149 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่ง ผู้ใด หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม ป.อาญา มาตรา 157 ” และ “เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต,เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ เรียก รับ หรือยอมที่จะรับ หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบ หรือมิชอบด้วยหน้าที่ อันเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 , 173 ” โดยจับบริเวณลานจอดรถ สำนักงานเขตดุสิต แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ

พฤติการณ์ สืบเนื่องจากกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย กรณี จนท.เทศกิจ เขตดุสิต ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เรียกรับเงินจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง ให้ จ่ายค่าคุ้มครองเพื่อแลกกับการไม่เข้าไปตรวจที่ไซต์งาน โดยมี จนท.เทศกิจ เขตดุสิต เข้าไปที่ไซต์งานก่อสร้างของผู้เสียหาย เพื่อแจ้งให้ผู้เสียหายเข้าไปพบ กับ นายสมพงษ์ฯ ที่ สำนักงานสำนักงานเขต ดุสิต ฝ่ายเทศกิจ เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2566 ผู้เสียหายได้เข้าไปพบกับนายสมพงษ์ ตามที่ได้นัดหมายเพื่อเจรจาให้ผู้เสียหายจ่ายค่าคุ้มครองแลกกับการไม่เข้าไปตรวจที่ไซต์งานเป็นจำนวนเงิน เดือนละ 3,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ต.ค.2566 เวลา 10.07 น. นายสมพงษ์ ได้โทรศัพท์มาตามให้ผู้ร้องเรียนเข้าไปพบเพื่อเจรจาสรุปยอดเงินค่าคุ้มครองแลกกับการไม่เข้าไปตรวจไซต์งาน ได้ข้อสรุปจาการเจรจาว่าให้จ่ายเงินเป็นรายปีระยะเวลารวม 12 เดือน เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 6,000 บาท  และได้นัดหมายในวันที่  10 ต.ค.2566 เวลา 10.00 น. ที่ ฝ่ายเทศกิจ อาคารอภิบาลดุสิต ชั้น 3 สำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพฯ

ต่อมาวันที่ 9 ต.ค.2566 เวลาประมาณ 14.00 น. ตำรวจ บก.ปปป.พร้อมด้วย

เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. ผู้เสียหายนำเงินสดจำนวนทั้งสิ้น 6,000 บาท มาลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ กก.1 บก.ปปป. เพื่อเป็นพยานหลักฐาน และ วันที่ 10 ต.ค.2566 เวลาประมาณ 10.00 น. ตำรวจ บก.ปปป.พร้อมด้วย

เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. ร่วมกันวางแผนโดยให้ ผู้เสียหายนำเงินสดซึ่งลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานแล้ว นำมามอบให้ เจ้าหน้าที่เทศกิจ เขตดุสิต ที่บริเวณลานจอดรถ สำนักงานเขตดุสิต โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตการณ์อยู่บริเวณโดยรอบและเมื่อผู้เสียหายส่งมอบเงินแล้ว เจ้าหน้าที่ จึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานเพื่อเข้าทำการตรวจค้น ขณะทำการตรวจค้น พบว่ามีเงินสดจำนวน 6,000 บาท บรรจุอยู่ภายในซองจดหมายสีขาว ภายในครอบครองของเจ้าหน้าที่เทศกิจ เขตดุสิต เจ้าหน้าที่จึงทำการตรวจสอบเงินสดต่อหน้าผู้ต้องหา พบว่าหมายเลขธนบัตรตรงกับหมายเลขธนบัตรที่ลงบันทึกประจำวันไว้จึงได้แจ้งพฤติการณ์และข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบ นำส่ง พงส.กก.1 บก.ปปป. โดย พงส. บก.ปปป. จะได้สอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อนำส่งสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาตามกฎหมายต่อไป

จากการสอบถามผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา