นพ.ธีระ เผยวิจัยต่างประเทศ ชี้ลองโควิด เสี่ยงทำอารมณ์ผิดปกติ

นพ.ธีระ เผยวิจัยต่างประเทศ ชี้ลองโควิด เสี่ยงต่อภาวะผิดปกติด้านอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล

หลังจากทั่วโลกเผชิญกับโรคโควิด 19 มากว่า 2 ปีครึ่ง วันนี้ภาคต่อของวิกฤตโควิด 19 ที่แพร่ระบาดใหญ่ คือ ปัญหา “ลองโควิด” (Long COVID) หรืออาการต่อเนื่องจากการติดเชื้อโควิด 19 ซึ่ง อีจัน นำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาบอกกัน

วันนี้ (18 ส.ค.65) นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยเรื่อง ลองโควิด ที่มีผลกระทบต่อโรคทางสมอง ระบบประสาท และจิตเวช ของต่างประเทศ ในเฟซบุ๊กส่วนตัว Thira Woratanarat ว่า…

ล่าสุด Taquet M และคณะ จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด สหราชอาณาจักร ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ The Lancet Psychiatry

ถือเป็นงานวิจัยที่ศึกษาย้อนหลัง 2 ปี ในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่มากถึงเกือบ 1.3 ล้านคนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งยุโรป เอเชีย และอเมริกา ครอบคลุมตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงอายุ โดยทำการประเมินความเสี่ยงของปัญหา Long COVID ที่ส่งผลให้เกิดโรคทางสมอง ระบบประสาท และจิตเวช

โดยมีสาระสำคัญคือ…

1.โควิดสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหา Long COVID ด้านสมอง ระบบประสาท และจิตเวช ไม่ต่างจากเดลต้า หรือสายพันธุ์ก่อนหน้า

2.ผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 มีความเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติด้านอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ฯลฯ แต่ความเสี่ยงจะค่อยๆ ลดลงสู่ปกติภายในเวลา 2-3 เดือน

3.ผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงต่อปัญหาทางสมองและระบบประสาท เช่น ปัญหาด้านความคิดความจำ สมาธิ สมองเสื่อม โรคจิต โรคลมชัก ฯลฯ มากกว่าปกติยาวนานจนถึง 2 ปีที่ทำการศึกษา (ซึ่งอาจนานกว่า 2 ปี หากมีการศึกษาต่อในอนาคต)

ผลการศึกษานี้เป็นที่สนใจของทั่วโลก เพราะชี้ให้เห็นว่าปัญหา Long COVID นั้นเป็นเรื่องสำคัญ และภาวะผิดปกติต่อสมอง ระบบประสาท รวมถึงจิตใจและอารมณ์นั้นเกิดขึ้นได้หลากหลาย โดยความเสี่ยงต่อหลายโรคนั้นคงอยู่ยาวนานถึง 2 ปี หรืออาจมากกว่านั้น ที่สำคัญคือการติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron ก็มีความเสี่ยงต่อภาวะต่างๆ ดังกล่าว ไม่ได้น้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้าเลย

นอกจากระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศต้องเตรียมรับมือ จัดระบบบริการที่จะสามารถให้การตรวจคัดกรอง ดูแลรักษา และฟื้นฟูสภาพแล้ว แต่ละประเทศยังจำเป็นต้องพิจารณาระบบสนับสนุนทางสังคมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยต่างๆ ที่ประสบปัญหาข้างต้น ให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันไปได้ด้วย

สำหรับประชาชนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็ควรมีความรู้เท่าทัน หมั่นประเมินสุขภาพของตนเอง ทั้งเรื่องความคิดความจำ สมาธิ อารมณ์ หากผิดปกติไปจากอดีต ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและให้การดูแลรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที

ดังนั้น การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง เป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันโควิด 19

คลิปอีจันแนะนำ
อาหารกลางวัน หรือของเหลือ?