เปิด 5 มุกเดิมๆ ที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้หลอกเหยื่อมากที่สุด

รู้ทัน ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ เปิด 5 มุกเดิมๆ ที่ใช้หลอกตบทรัพย์เหยื่อ ดูดเงินเกลี้ยงบัญชีมากที่สุด

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ คือ ขบวนการหลอกเหยื่อทางโทรศัพท์ โดยสร้างสถานการณ์ให้เหยื่อตื่นตระหนก หรือเข้าใจผิดว่าได้รับผลประโยชน์บางอย่าง มักมาพร้อมกอุบายใหม่ๆ ที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ หากใครได้รับสายที่น่าสงสัยให้ใช้สติเข้าสู้ และเมื่อไรที่ปลายสายบอกให้โอนเงิน สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าเป็นมิจฉาชีพ ห้ามโอนเด็ดขาด

เพราะไม่เช่นนั้น อาจตกเป็นเหยื่อ เช่น ถูกหลอกให้โอนเงินจนหมดบัญชี,  ถูกหลอกถามข้อมูลบัตรเครดิต เพื่อนำไปซื้อสินค้าออนไลน์ ทำให้เหยื่อเป็นหนี้ รวมถึง ถูกสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขที่บัญชี เลขที่บัตรประชาชน โดยมิจฉาชีพอาจนำข้อมูลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการสวมตัวตน สมัครแอปพลิเคชันทางการเงินของเหยื่อ

โดยโครงสร้างของ ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ เหล่านี้ จะมีนายทุนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ทำกันเป็นกระบวนการ แบ่งเป็นแผนก เช่น แผนกสร้างสรรค์เรื่อง เขียนสคริปต์และบทพูด, แผนกจิตวิทยา ทำหน้าที่วิเคราะห์พฤติกรรม, แผนกเทรนนิ่ง เพื่อฝึกวิธีการพูด ทั้งที่มาด้วยความเต็มใจและถูกหลอกมา, แผนกหาเหยื่อ เพื่อเข้าร่วมทีมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึง แผนกหาบัญชีม้า (บัญชีทางผ่าน เพื่อรับโอนเงินระหว่างเหยื่อและมิจฉาชีพ เป็นการโกงเงินบนโลกออนไลน์ที่ต้องใช้บัญชีธนาคาร หรือการซื้อขายของผิดกฎหมาย) ดำเนินการโอนเงินเข้าสู่เครือข่าย

ซึ่งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีกลุ่มเป้าหมายแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ 1.คนยากจน คนตกงาน มองหางาน ชีวิตลำบาก อยากมีฐานะทางการเงินที่ดี และ 2.คนมีฐานะ มีเงินเก็บ อยู่กับบ้านเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยตามข่าวสาร โดยเหยื่อไม่จำกัดเพศ วัย การศึกษา หรือศาสนาแต่อย่างใด ทุกคนสามารถถูกหลอกได้ทั้งสิ้น

แต่ช่วงหลังมานี้ ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ ก็เริ่มหมดมุก ใช้แผนเดิมหลอกเหยื่อ จนหลายคนจับได้ไล่ทันกันเกือบหมดแล้ว โดยล่าสุด เพจเตือนภัยออนไลน์ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้ออกมาเตือนว่า 

มุกเดิม ๆ ที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้เพื่อทำให้เงินเราหายไปตลอดการ มีอะไรบ้าง

1.อ้างว่ามีพัสดุจากบริษัทขนส่งพัสดุข้ามประเทศ เช่น DHL หรือ FedEx และถูกด่านของกรมศุลกากร อายัดไว้และมีสิ่งของผิดกฎหมาย จากนั้นจะให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ปลอม) เพื่อทำการตรวจสอบบัญชี หรือให้โอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาตรวจสอบ

2.อ้างเป็นข้าราชการ เช่น ศาล อัยการ ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) กรมสรรพากร หรือ กรมสรรพสามิต เป็นต้น จากนั้นจะอ้างว่าผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมร้ายแรง (เช่น ยาเสพติด ค้ามนุษย์ หรือ ฟอกเงิน) และให้โอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาตรวจสอบ

3.อ้างว่าผู้เสียหายเปิดบัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ให้คนร้ายใช้ในการกระทำความผิด และให้โอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาตรวจสอบ

4.อ้างว่าผู้เสียหายค้างชำระค่าบัตรเครดิตเป็นจำนวนมาก หากไม่รีบชำระจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เพื่อหลอกให้โอนเงินชำระค่าบัตรเครดิตให้กับคนร้ายทันที

5.อ้างเป็นสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หลอกลวงหมายเลขโทรศัพท์มือถือของเหยื่อ ค้างค่าชำระ หรือมีผู้ร้องเรียนเป็นจำนวนมาก จะถูกปิดเบอร์ภายใน 2 ชั่วโมง อีกทั้ง มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม จากนั้นจะติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปลอม และให้โอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งตายใจคิดว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ จะใช้แค่ 5 มุกนี้อย่างเดียว ดังนั้น หากเกิดเหตุการณ์ โดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง ให้ตั้งสติ เก็บรวบรวมหลักฐาน เช่น เบอร์โทรศัพท์ เวลาที่ติดต่อ เลขที่บัญชีของคนร้าย ตู้เอทีเอ็ม/สาขา ที่โอนเงิน เป็นต้น แล้วติดต่อไปยังธนาคารเพื่อแจ้งระงับการโอนเงิน 

หากไม่สามารถระงับการโอนเงินได้ ให้รวบรวมหลักฐานและข้อมูลต่างๆ แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ติดต่อไปยังเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อทำการตรวจสอบและบล็อกเบอร์เหล่านั้น

ได้แก่ เอไอเอส 1185, ทรู 9777, ดีแทค 1678 รวมถึง แจ้งเบาะแส แจ้งสายด่วน สอท. 1441, ศูนย์ PCT O81-866-3000, สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เบอร์ 1599 และแจ้งความออนไลน์ที่ www.thaipoliceonline.com