รปภ. ถูกแจ้งข้อหา บุกรุก แบบงงๆ ทั้งที่ทำตามหน้าที่

รปภ. งง ถูกจับ ทั้งที่ทำตามหน้าที่ แต่ถูกแจ้งข้อหา บุกรุก จากเจ้าของบ้าน ที่เคยเป็นอดีต ผกก.สน.แห่งหนึ่ง

เรื่องราวร้องเรียน จากนายมนูญ ทองทิพย์ ประธานชมรมแรงเจอร์พิทักษ์สัตว์และพันธุ์พืช

นายมนูญ เล่าให้อีจันฟังว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง

ซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้ มีกฎระเบียบว่า หากจะมีการต่อเติมบ้าน ต้องให้เจ้าของบ้านวางเงินค่าประกันความเสียหายหากนำผู้รับเหมามาจากข้างนอก แต่ผู้จัดการนิติบุคคล ได้ปล่อยให้ผู้รับเหมารายนี้เข้ามาต่อเติมบ้านในหมู่บ้าน โดยสั่ง รปภ.ว่าให้เข้ามาได้ แต่พอเข้ามาต่อเติมหลายวัน กรรมการหมู่บ้านเห็น และได้ทักท้วง ผู้จัดการนิติบุคคลว่า ให้ผู้รับเหมารายนี้เข้ามา เจ้าของบ้านวางเงินประกันความเสียหายหรือไม่ ? ผู้จัดการนิติบุคคลบอกไม่ได้วางเงินประกัน จึงรีบแจ้งไปยังเจ้าของบ้านหลังนี้ เพื่อวางเงินประกัน พร้อมแจ้ง รปภ.ว่า ห้ามไม่ให้ผู้รับเหมารายนี้เข้ามา

โดยเจ้าของบ้านรายนี้ นายมนูญ เล่าว่า เคยเป็น อดีต ผกก.สน.แห่งหนึ่ง ยศ พ.ต.อ.

เจ้าของบ้าน ได้โอนเงินเข้าบัญชีของ ผู้จัดการนิติบุคคล ภายในวันนั้น แต่ผู้จัดการนิติบุคคลไม่ทราบ ว่า เจ้าของบ้านโอนเงินเข้ามาให้แล้ว ซึ่งคำสั่งที่บอกว่า ไม่ให้ผู้รับเหมาเข้ามาที่บอกกับ รปภ.ไว้ ก็ยังคงเดิม

เช้าวันต่อมา รปภ. ก็ทำตามคำสั่งปกติ โดยไม่ให้ผู้รับเหมาเข้ามาต่อเติมบ้านหลังนั้น

แต่ทางเจ้าของบ้าน ไม่ยอม โทรไปแจ้งความที่ สน.ที่คนเคยเป็นผู้กำกับ โดยบอกให้ตำรวจเข้ามาจับ รปภ.ไป

ซึ่ง รปภ. ก็ได้แจ้งว่า ทำตามคำสั่งของ ผู้จัดการนิติ ตนทำตามหน้าที่ !

แต่ตำรวจ เตรียมจะแจ้งข้อหา รปภ. ในข้อหาบุกรุก แล้วล็อกตัว รปภ.ไปที่ สน.

นายมนูญ เผยว่า “การเอาตัวไปโรงพัก ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย ซึ่งระบุให้ต้องถ่ายภาพและเสียง ที่เป็นคลิปเคลื่อนไหว ตั้งแต่จับกุม จนกระทั่งถึงพนักงานสอบสวน แต่ในบันทึกจับกุมระบุไว้ไม่ได้ถ่ายคลิป โดยให้เหตุผลว่า วันนั้นฝนตกหนักไม่สามารถบันทึกคลิปได้ ทั้งที่จริง ฝนไม่ได้ตก แต่ตำรวจจับ รปภ.ซ้อนมอเตอร์ไซค์ไป ไม่ได้มีการถ่ายคลิปเลย

พอไปถึง สน. ตำรวจที่นั่น เรียกเจ้าของบ้าน ว่า เจ้านายทุกคำ

ตัวร้อยเวร จะแจ้งข้อหา รปภ. นายมนูญ ก็ได้โทรไปหาตำรวจ พร้อมท้วงติงว่า จะแจ้งข้อหาใครในคดีอาญา กรณีที่มันไม่ชัดเจน ตำรวจต้องเซฟตัวเอง สอบปากคำ รปภ. ไว้เป็นพยานก่อนดีไหม ในฐานะพยาน แล้วไปรวบรวมหาพยานหลักฐาน หากพบว่าผิดจริงแล้วค่อยเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา

สิ่งที่ควรจะทำ คือ พิสูจน์เจตนาของ รปภ. ก่อน ว่าผิดจริงตามข้อหา หรือไม่ ? สุดท้าย รปภ. ถูกขังในคุกที่ สน. หลายชั่วโมง ทำอย่างกะเป็นผู้ร้าย คดีใหญ่”

ทั้งนี้ นายมนูญ ยังบอกอีกว่า การพิมพ์สำนวนในคดีนี้ ร้อยเวรไม่ได้เป็นคนพิมพ์เอง แต่กลายเป็นว่า เจ้าของบ้านหลังนั้นเป็นคนทำเองทั้งหมด !

ซึ่งเรื่องนี้ ตำรวจทำผิดหลายข้อ

1.ไม่ทำตามขั้นตอน

2.แจ้งข้อกล่าวหาโดยที่ไม่พิสูจน์ความจริง

3.ไม่รวบรวมพยานหลักฐาน ให้น่าเชื่อว่า รปภ. กระทำผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหา หรือไม่

4.ปล่อยให้คนภายนอกที่ใช่พนักงานเข้ามาทำสำนวน จัดการที่เป็นเอกสารของทางราชการเอง

ในวันนั้น นายมนูญ ได้ให้ฝ่ายกฎหมายเข้าไปประกันตัว รปภ.ออกมาแล้ว

ซึ่งถามผู้จัดการนิติบุคคลแล้ว ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยบอกว่า วันที่อยู่ที่ สน. ตนได้พยายามเข้าไปชี้แจงแล้ว แต่ถูกให้กลับก่อน ยอมรับผิดเองที่ไม่ได้แจ้งเด็ก พยายามจะเข้าไปอธิบายแล้ว แต่ผู้เสียหาย กับ ร้อยเวร ไม่คุย หากพนักงานสอบสวนรับฟังจากตน เชื่อว่า รปภ.จะไม่ถูกแจ้งข้อหาแน่นอน

โดยหลังนี้ นายมนูญ แจ้งว่า จะดำเนินการให้ถึงที่สุด

จะเข้าไปร้องเรียนกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ตรวจสอบวินัยกับตำรวจที่รับทำคดีนี้ และ จะฟ้องตำรวจชุดนี้ ที่กลั่นแกล้งให้บุคคลรับโทษทางอาญา พร้อมแจ้งความกลับ เจ้าของบ้าน ที่แจ้งความเท็จ ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่า รปภ. คนนี้ไม่รู้เรื่อง แต่ยังยืนยันจะให้ดำเนินการเอาผิดกับเขา

เรื่องนี้จะจบอย่างไร ต้องติดตามกันต่อ !

คลิปอีจันแนะนำ
ตั้งแคมป์สู้ชีวิต! สู่วิกฤตการเป็นผู้ประสบภัย