เมื่อใช้คำว่า “รัก” ทำร้าย ทางกฎหมายว่าอย่างไร?

อ้างว่า “รัก” จึง “ฆ่า” อ้างว่า “รัก” จึง “ทำร้าย” เมื่อใช้คำว่า “รัก” ทำร้าย ทางกฎหมายว่าอย่างไร? มาฟังคำอธิบายจากทนายเจมส์

วันวาเลนไทน์ ผมอยากจะหยิบยกคำพิพากษาฎีกาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักมาให้ได้ศึกษากันครับ

อ้างว่า “รัก” จึง “ฆ่า” อ้างว่า “รัก” จึง “ทำร้าย”

ส่วนตัวมองว่าเป็นเหตุผลที่ไร้สาระ เห็นแก่ตัว ความรักที่แท้จริง คือ การได้เห็นคนที่เรารักมีความสุข แม้มิได้ครอบครองเป็นเจ้าของหัวใจก็ตาม

นิยามความรักในมุมมองของศาลฎีกาตามคำพิพากษาฎีกาที่ 6083 / 2546

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) วางโทษประหารชีวิต ลดโทษให้จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบด้วย มาตรา 52 (1) หนึ่งในสาม คงจำคุกตลอดชีวิต ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (5) อีกบทหนึ่งด้วย ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด วางโทษประหารชีวิต ลดโทษให้จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52 (1) หนึ่งในสาม คงจำคุกตลอดชีวิต เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จากความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) มาเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) และ 289 (5) และยังคงจำคุกตลอดชีวิต เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี คดีต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง ซึ่งข้อห้ามฎีกาดังกล่าวนี้ย่อมใช้บังคับแก่โจทก์ร่วมด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (14) ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า จำเลยควรได้รับโทษประหารชีวิต ศาลล่างทั้งสองไม่ควรลดโทษให้จำเลยเพราะคดีไม่มีเหตุบรรเทาโทษนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

การที่จำเลยกับผู้ตายมีความสัมพันธ์กันฉันคนรัก แต่ผู้ตายต้องการเลิกความสัมพันธ์กับจำเลยไปมีรักกับผู้ชายคนใหม่ เมื่อไม่สมหวังจำเลยก็ฆ่าผู้ตาย เป็นความคิดและการกระทำที่เห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ของจำเลยโดยฝ่ายเดียว มิได้คำนึงถึงจิตใจและความรู้สึกของผู้ตาย ทั้งเป็นความเห็นผิดที่เป็นอันตรายต่อสังคมอย่างยิ่ง ถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงมิใช่การกระทำโดยบันดาลโทสะ กรณีไม่มีเหตุจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้

ใจความสำคัญ คือ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิด ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และการบอกเลิกของแฟน หรือแฟนคบชายอื่น ไม่ใช่การข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงไม่สามารถอ้างเหตุบันดาลโทสะ เพื่อขอลดโทษได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพและคำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลงโทษจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว

บทความโดย “ทนายเจมส์” นิติธร แก้วโต