สำนักพุทธฯ จี้ เจ้าอาวาสวัดดัง รีบรื้อระบบเงินบริจาค ชี้ ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้

สำนักพุทธฯ จี้ วัดดัง และเจ้าอาวาสวัดต่างๆ เร่ง รื้อระบบเงินบริจาค ให้ โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมแนะนำ ทำบัญชีให้ชัด และ ใช้ระบบ E-Donation รับเงินบริจาค

หลังจากกระแสข่าวที่เกี่ยวกับวงการพระสงฆ์ กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก ในสังคมตอนนี้ ล่าสุด ทางสำนักงานพระพุทธศาสนา ได้ออกหนังสือเตือน เน้นย้ำเกี่ยวกับแนวปฏิบัติ ในเรื่องของเงินบริจาคต่างๆ ที่มหาเถรสมาคม ได้ออกไว้ก่อนหน้านี้ โดยหนังสือฉบับดังกล่าว มีใจความว่า

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขอเน้นย้ำให้เจ้าอาวาสวัดทุกวัด
เร่งดำเนินการตามมติมหาเถรสมาคม ที่ 495/2568 เรื่อง แนวปฏิบัติการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร การเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารของวัด และแนวทางการจัดทำบัญชีรายรับ บัญชีรายจ่าย รายงานเงินคงเหลือของวัด หรือระบบบัญชีมาตรฐานของวัด

1.กำหนดแนวปฏิบัติในการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร การเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคาร และการเก็บรักษาบัญชีเงินฝากธนาคารของวัด ดังนี้

การเปิดบัญชีและการเบิกถอนเงินฝากธนาคารของวัด
1.1 การเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร ให้เปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตจังหวัดที่วัดตั้งอยู่เท่านั้น
1.2 ระบุชื่อบัญชีเงินฝากธนาคารว่า “เงินของวัด……….” หรือ “วัด……..” เท่านั้น ห้ามมีคำว่าโดย…….. (บุคคลใดบุคคลหนึ่ง) ต่อท้ายชื่อวัด
1.3 ระบุชื่อผู้มีอำนาจลงนามถอนเงิน หรือสั่งจ่ายเช็ค จากบัญชีเงินฝากธนาคารของวัดอย่างน้อยสาม รูป/คน ประกอบด้วย
-เจ้าอาวาสที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายสงฆ์
-ไวยาวัจกรที่ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าอาวาส
-บุคคลที่เจ้าอาวาสเห็นสมควร

1.4 เงื่อนไขการถอนเงิน หรือสั่งจ่ายเช็ค ให้กำหนดผู้มีอำนาจลงนามจำนวนสองในสามรูป/คน โดยมีเจ้าอาวาสลงนามถอนเงินหรือสั่งจ่ายเช็คด้วยทุกครั้ง
1.5 การถอนเงินฝากธนาคารของวัด ให้ใช้การถอนเงินโดยใช้ใบถอนเงินของธนาคาร และสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารเท่านั้น

การเก็บรักษาบัญชีเงินฝากธนาคารของวัด ให้เก็บรักษาไว้ ณ ที่วัด ในที่ปลอดภัยไม่ให้สูญหาย

2.การจัดทำบัญชีรายรับ บัญชีรายจ่ายของวัด และรายงานเงินคงเหลือของวัดหรือ ระบบบัญชีมาตรฐานของวัด ดังนี้
2.1 ให้วัดทุกวัดจัดทำบัญชีรายรับ บัญชีรายจ่ายของวัดและบันทึกบัญชีทุกครั้งที่มีรายการรับและรายการจ่าย พร้อมให้สรุปเป็นรายเดือน และรวบรวมบัญชีรายรับ บัญชีรายจ่ายของวัดเป็นรายเดือน จำนวน 12 เดือน (เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม) ส่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดแล้วแต่กรณี ภายในวันที่ 20 มกราคมของปีถัดไป โดยสำเนาเอกสารไว้ที่วัดด้วยทุกฉบับ ในส่วนเอกสารหลักฐานประกอบรายรับ – รายจ่าย ให้เก็บไว้ที่วัด เพื่อรับการตรวจสอบ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
2.2 ให้วัดจัดทำรายงานเงินคงเหลือของวัด โดยจัดทำ ณ วันสุดท้ายของเดือน เป็นประจำทุกเดือน โดยให้รายงานทั้งเงินสด เช็ค และเงินฝากธนาคารที่เป็นบัญชีของวัดทุกบัญชี ที่ชื่อบัญชีเป็นชื่อของวัด และรวบรวมส่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดแล้วแต่กรณี ภายในวันที่ 20 มกราคมของปีถัดไป โดยสำเนาเอกสารไว้ที่วัดด้วยทุกฉบับ
2.3 ให้วัดทุกวัดพิจารณาใช้ระบบบัญชีมาตรฐานสำหรับวัดของสำนักงาน-พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในการบันทึกบัญชีของวัด ซึ่งหากวัดใดได้นำระบบบัญชีมาตรฐานสำหรับวัดใช้ในการบันทึกบัญชีของวัดแล้ว ไม่ต้องดำเนินการจัดทำข้อ 2.1 และข้อ 2.2 อีก แต่วัดต้องรายงานบัญชีมาตรฐานสำหรับวัดส่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดแล้วแต่กรณี ภายในวันที่ 20 มกราคมของปีถัดไป โดยสำเนาเอกสารไว้ที่วัดด้วยทุกฉบับ ทั้งนี้ ในการจัดทำระบบบัญชีมาตรฐานสำหรับวัด ให้วัดพิจารณาได้ตามความเหมาะสมของวัด
2.4กรณีวัดที่มีรายชื่ออยู่ในโครงการจัดทำบัญชีมาตรฐาน (สำหรับวัดนำร่อง) ให้จัดทำบัญชีระหว่างเดือนตุลาคม – มิถุนายน ในปีถัดไป และนำส่งรายงานให้แก่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติภายในเดือนสิงหาคม

3.ให้วัดทุกวัดพิจารณาใช้ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) มาใช้สำหรับรองรับข้อมูลการรับบริจาคตามความเหมาะสมของวัด

4.ให้เจ้าอาวาสปฏิบัติตามมติฉบับนี้ และให้เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ กำกับ กำชับ ติดตาม และดูแลเจ้าอาวาสในเขตปกครอง ให้บริหารศาสนสมบัติของวัด ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย พระราชบัญญัติ กฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบ มติ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด หากไม่ปฏิบัติตามย่อมมีความผิดฐานละเมิดจริยาพระสังฆาธิการและมีโทษได้

5.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดำเนินการ ดัง ต่อไปนี้
5.1 กำหนดแบบบัญชีรายรับ บัญชีรายจ่ายของวัด และรายงานเงินคงเหลือของวัด ตามมติฉบับนี้
5.2 ให้คำแนะนำแก่วัดในการจัดทำบัญชีรายรับ บัญชีรายจ่ายของวัด และรายงาน เงินคงเหลือของวัด
5.3 ให้มีหน้าที่ในการกำกับ ดูแล หรืออาจจะประสานงานกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบ เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานตรวจสอบภายในระดับจังหวัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นต้น เพื่อทำการตรวจสอบบัญชีรายรับบัญชีรายจ่ายของวัด และรายงานเงินคงเหลือของวัด พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบได้ตามความเหมาะสม และให้รายงานการตรวจสอบให้มหาเถรสมาคมทราบ