6 กุมภาพันธ์ วันมวยไทย มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน

ประวัติ วันมวยไทย 6 กุมภาพันธ์ มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน เทิดพระเกียรติ “พระเจ้าเสือ” พระมหากษัตริย์ที่ใช้ศิลปะมวยไทยต่อสู้ปกป้องราชอาณาจักรให้รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของชาวต่างชาติ

มวยไทย ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน และความภูมิใจของคนทั้งชาติ เป็นศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัวของชาติไทยที่มีมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ซึ่งได้รับการสืบทอดมาสู่ชนรุ่นปัจจุบัน

มวยไทย เป็นการฝึกฝนให้สามารถใช้อวัยวะทุกส่วนของร่างกายเป็นอาวุธได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งมือ เท้า เข่า ศอก รวมถึงศีรษะ จึงเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ครบเครื่อง

มวยไทย เป็นที่นิยมไปทั่วไม่เฉพาะในเมืองไทย แต่ยังได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศโซนยุโรปและทั่วโลก ซึ่งเป็นกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก

6 กุมภาพันธ์ วันมวยไทย

จากเหตุผลดังกล่าว ในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2553 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนมวยไทยให้เป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดความตระหนักในคุณค่าและยกย่ององค์ความรู้ และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย เพื่อให้มรดกอันทรงคุณค่านี้ได้รับการยกย่อง ส่งเสริม และเชิดชูให้คนในชาติให้ความสำคัญต่อศิลปะการป้องกันตัวของตนเองที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงร่วมมือกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับมวยไทย ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลักดันให้มีการสถาปนา “วันมวยไทย” โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ กำหนดให้วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันมวยไทย ซึ่งตรงกับวันเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (สมเด็จพระเจ้าเสือ) ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่มีพระปรีชาสามารถด้านมวยไทยเป็นที่ประจักษ์ และเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว ที่เสด็จออกไปชกมวยกับสามัญชน ตามบันทึกในพงศาวดาร (ฉบับพระราชหัตเลขา พ.ศ.2542) ที่กล่าวว่า

…พระเจ้าเสือ ทรงแต่งกายแบบชาวบ้าน และเสด็จทางชลมารคพร้อมเรือตามเสด็จ ไปจอดที่ตำบลตลาดกรวด ซึ่งมีงานมหรสพมีผู้คนไปเที่ยวงานอย่างเนืองแน่น มีการละเล่นมากมายหลายอย่าง พระองค์เสด็จไปยังสนามมวยและให้นายสนามจัดหาคู่ชกให้ โดยนายสนามประกาศให้ประชาชนทราบว่า พระองค์เป็นนักมวยจากเมืองกรุง ประชาชนสนใจมาก เพราะสมัยนั้น นักมวยกรุงศรีอยุธยามีชื่อเสียงมาก นายสนามได้จัดเอานักมวยฝีมือดีของเมืองวิเศษไชยชาญเท่าที่มีอยู่ มาเป็นคู่ชก พระเจ้าเสือได้ชกกับ นักมวยถึงสามคนมี นายกลาง หมัดตาย  นายใหญ่  หมัดเหล็ก และนายเล็ก หมัดหนัก ซึ่งแต่ละคนมีฝีมือดีเยี่ยม การต่อสู้เป็นไปอย่างน่าดูด้วยฝีมือเก่งพอ ๆ กัน แต่ด้วยพระปรีชาสามารถและความชำนาญในศิลปะมวยไทย ที่พระองค์ได้ทรงฝึกหัดและศึกษาจากสำนักมวยหลายสำนัก จึงทำให้พระองค์สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ทั้ง 3 คนได้ โดยที่คู่ต่อสู้ต่างได้รับความบอบช้ำเป็นอันมาก  และได้รับรางวัลเป็นเงินหนึ่งบาท ส่วนผู้แพ้ได้สองสลึง ซึ่งพระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยกับการได้ชกมวยในคราวนั้นไม่น้อย

พระเจ้าเสือ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ใช้ศิลปะมวยไทยมาใช้ต่อสู้ปกป้องราชอาณาจักรให้รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของชาวต่างชาติ ตามบันทึกว่า พระเจ้าเสือทรงมีฝีมือการชกมวยไทยชำนาญมาก ในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งขุนหลวงสรศักดิ์ เคยใช้ศิลปะมวยไทยไล่ชกเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือคอนสแตนติน ฟอลคอน จนฟันหักไปสองซีก ซึ่งเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เป็นขุนนางฝรั่งที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดปรานเป็นอย่างมาก

ในสมัยอยุธยา จะมีกองกำลังทหารกองหนึ่งทำหน้าที่ถวายอารักขาพระเจ้าแผ่นดิน เรียกว่า “กองทนายเลือก” ผู้ที่ได้ทำงานในกองนี้ได้รับการคัดเลือกมาจากนักมวยฝีมือดี ทนายเลือก มีบทบาทสำคัญและอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน ดังปรากฏว่า ระหว่างที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงประชวรใกล้สวรรคต มีข่าวว่า เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ คิดก่อการกบฏ ขุนหลวงสรศักดิ์ได้ใช้ทนายเลือกไปลวงเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เข้ามาในพระราชวัง พอเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ นั่งเสลียงคนหามเข้ามา ทนายเลือกจึงตีด้วยไม้พลองแล้วฆ่าเสีย

จากการที่พระเจ้าเสือทรงพระปรีชาสามารถเกี่ยวกับมวยไทย จึงทรงคิดท่าแม่ไม้ ไม้กลมวยไทยขึ้นมาเป็นแบบเฉพาะพระองค์ เรียกว่า “มวยไทยตำรับพระเจ้าเสือ” จากที่ได้มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยรัชการที่ 5 ซึ่งเป็นตำรามวยตำรับพระเจ้าเสือที่เก่าแก่ที่สุด เป็นมรดกทางภูมิปัญญาจากบรรพชนที่ได้รับการถ่ายทอดมาสู่ชนรุ่นหลัง และสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้

อ้างอิงข้อมูลและภาพ : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_w3c/ewt_news.php?nid=584&filename=

http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=6509&filename=index

คลิปอีจันแนะนำ
พฤติกรรมความรุนแรง เกิดจากอะไร