5 ธันวาคม วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพรัชกาลที่ 9 วันชาติและวันพ่อแห่งชาติ

ธ สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์ 5 ธันวาคม วันพ่อแห่งชาติ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

วันพ่อแห่งชาติ พ.ศ.2565 ตรงกับ วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2565 / วันจันทร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือนอ้าย(1) ปีขาล วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางราชการได้กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการหนึ่งวัน เพื่อให้ประชาชนชาวไทย ได้ร่วมกันเฉลิมฉลองในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และถือเป็นวันแห่งชาติอีกวันหนึ่งด้วย

วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือวันพ่อแห่งชาติ มีความเป็นมาของวันสำคัญ คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชสมภพ(วันเกิด) เมื่อ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ โรงพยาบาล เมาท์ ออเบิร์น นครบอสตัน สหรัฐอเมริกา โดยนายแพทย์วิทท์มอร์เป็นผู้ถวายการประสูติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 9 แห่งบรมจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจและเจริญพระราชจริยาวัตรเป็นเอนกประการจำเนียรกาลผ่านมาถึงปัจจุบันที่สุดจะพรรณนาให้ครบถ้วนได้ท่ามกลางมหาสมาคมวันพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกทรงมีกระแสพระราชดำรัสที่ พสกนิกรทุกคนยังจดจำได้ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” อันคำว่าโดย “ธรรม” นั้น ทรงหมายถึง ธรรมอันล้ำเลิศที่เรียกว่า “ทศพิธราชธรรม” หรือที่เรียกกันโดยสามัญว่า “ราชธรรม 10 ประการ”


ราชธรรม 10 ประการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยึดมั่นทรงปฎิบัติโดยเคร่งครัด และส่งผลถึงพสกนิกรทั่วพระราชอาณาจักรนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเหนือเกล้าฯ ห่วงใยตั้งแต่พระเยาว์จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งพระเจ้าหลานเธอทุกพระองค์ต่างซาบซึ้งและปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณอย่างมิรู้ลืม พระองค์ทรงเป็น “พ่อ” ตัวอย่างของปวงชนชาวไทยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณา ทรงห่วงใยอย่างหาที่เปรียบมิได้

ที่มาของ วันพ่อแห่งชาติ ในประเทศไทย

คุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้ริเริ่มจัดงานวันพ่อแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2523 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา และทรงทะนุบำรุงพระราชโอรส และพระราชธิดาด้วยความรัก ทรงอบรมอนุศาสน์ให้ทรงเจริญวัยสมบูรณ์ และทรงบำเพ็ญคุณานุประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนเพื่อให้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ทำให้คุณหญิงเนื้อทิพย์ ได้เห็นแบบอย่างที่ดีจากในหลวง และคิดว่า “พ่อ” คือผู้ที่ควรได้รับการเทิดทูน และยกย่อง จึงได้จัดงานวันพ่อขึ้นมา โดยมีดอกพุทธรักษาสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ วันพ่อแห่งชาติ

5 ธันวาคม นับเป็นวันชาติของไทย

ความเป็นมาของวันชาติ โดยทั่วไป มักจะตรงกับวันที่ ประเทศนั้นๆเฉลิมฉลองการได้รับอิสรภาพ เป็นเอกราชหรือเป็น วันสถาปนาป ระเทศ สถาปนา รัฐสถาปนาราชวงศ์ วันพระราชสมภพ ของพระมหากษัตริย์ วันเกิดของประมุขรัฐ หรืออาจเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ดังนั้นวันชาติของ แต่ละประเทศจึงขึ้นอยู่กับการกำหนดของประเทศนั้นๆ และมักจะถือเป็นวันหยุดประจำของชาติ หรือ วันหยุดราชการด้วย

ประเทศไทยเคยมีการกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันชาติเนื่องจาก เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตย ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2481 โดย พลเอกพหลพล พยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี และมีการฉลองวันชาติครั้งแรกวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2482 ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และได้ถือปฏิบัติมาโดยตลอดเป็นระยะเวลาถึง 21 ปี จนถึงสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีจึงได้มีการทบทวนว่าไม่ควรใช้วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ เนื่องจากมีความไม่เหมาะสมหลายประการ มีการตั้งคณะกรรมการโดยมี พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาและเสนอความเห็นว่าประเทศที่มี ระบอบประชาธิปไตย และมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติหลายประเทศ ถือเอาวันพระราชสมภพ ของพระมหากษัตริย์ เป็นวันฉลองของชาติ เช่นประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ญี่ปุ่น เป็นต้น ดังนั้น เพื่อยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณี อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติ และเป็นวันศูนย์รวมจิตใจ ความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ ประเทศไทยจึงได้ถือเอาวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นวันฉลอง “วันชาติ” ตั้งแต่ พ.ศ.2503 เป็นต้นมา

ต่างประเทศก็มี “วันพ่อแห่งชาติ” 

วันพ่อแห่งชาติถือเป็นวันสำคัญในการฉลองความเป็นพ่อและบุคคลที่นับถือว่าเป็นพ่อ พ่อแห่งชาติของแต่ละประเทศจะกำหนดวัน และจัดงานแตกต่างกันไป

ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1908 ในเมืองแฟร์มอนต์ รัฐเวสต์เวอร์จิเนียก่อนที่แนวคิดวันพ่อแห่งชาติ ของจอห์น บี. ดอดด์ จะถูกเผยแพร่ไปในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ประเทศสเปน โปรตุเกส อิตาลี วันพ่อแห่งชาติคือ วันที่ 19 มีนาคม 

ประเทศเกาหลีใต้ วันที่ 8 พฤษภาคม

ประเทศเดนมาร์กวันที่ 5 มิถุนายน

ประเทศโปแลนด์ วันที่ 23 มิถุนายน

ประเทศบราซิล วันอาทิตย์ที่สองของเดือนสิงหาคม

ประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ วันอาทิตย์แรกของเดือนกันยายน

ประเทศฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ วันอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤศจิกายน

ประเทศญี่ปุ่น อาร์เจนตินา ไอร์แลนด์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร วันอาทิตย์ที่สามของเดือนมิถุนายน

กิจกรรมในวันพ่อแห่งชาติ

  •  ในวันพ่อแห่งชาติเราควรประดับธงชาติไทยที่อาคารบ้านเรือน

  •  จัดพิธีศาสนสงฆ์ ทำบุญใส่บาตร อุทิศเป็นพระราชกุศล น้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล

  •  จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

วัตถุประสงค์ที่ต้องมีวันพ่อแห่งชาติ

  • เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

  • เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม

  • เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ

  • เพื่อให้ผู้เป็นพ่อ สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน