หนาวนี้ควรระวังค่า ฝุ่น PM 2.5 กลับมาพุ่งสูงอีกครั้ง

ทำไมค่าฝุ่น PM 2.5 ถึงพุ่งสูงขึ้นในช่วงหน้าหนาว? พร้อมสัญญาณเตือนจากร่างกายให้ระวังฝุ่น

เตรียมรับมือกันให้ดี มันกำลังจะกลับมาอีกครั้ง ฝุ่น PM 2.5 ที่กลับมาพุ่งสูงช่วงหน้าหนาว สาเหตุก็เป็นเพราะสภาพอากาศในช่วงฤดูหนาวนั้นนิ่งกว่าฤดูอื่น และเอื้อต่อการกักตัวของฝุ่นละอองในชั้นอากาศยิ่งโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ สิ่งที่เราควรเตรียมนอกจากเสื้อกันหนาวแล้ว คงต้องเตรียมหน้ากากกันฝุ่นและสุขภาพให้พร้อมรับมือกับฝุ่นไว้อีกด้วย ซึ่งมีการคาดว่าปีนี้ PM 2.5 น่าจะกลับมากวนใจอีกแน่นอน

ทำไมฝุ่นต้องมาช่วงฤดูหนาว ?

ความจริงแล้วฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง pm 2.5 ไม่ได้หายไปไหนเลย แต่ล่องลอยอยู่บนชั้นบรรยากาศและสามารถอยู่ได้นานมากกว่า 20 ปี ซึ่งอากาศที่อยู่บริเวณเหนือพื้นดินจะมีอุณหภูมิสูงกว่าอากาศที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า และอากาศจะเคลื่อนตัวจากบริเวณที่อุณหภูมิสูงไปยังอุณหภูมิต่ำ (พื้นดิน → ท้องฟ้า) หมายความว่าในภาวะปกติ อากาศเหนือพื้นดินที่มีอุณหภูมิสูงจะเคลื่อนตัวขึ้นไปยังชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และจะพัดพาเอาฝุ่นละออง ควัน และสิ่งอื่นๆ ที่ปะปนอยู่ในอากาศลอยขึ้นไปด้วย  เนื่องด้วยอากาศร้อนที่ลอยขึ้นไปด้านบนยังมีความกดอากาศกดเอาไว้อีกทีหนึ่งทำให้เกิดเป็นกรงขังฝุ่นควันไม่ให้ลอยออกไป ปรากฎการณ์นี้เรียกว่า ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (Temperature inversion)

ซึ่งฝุ่น pm 2.5 ที่เราจะได้รับกันก็เป็นจากกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เกิดฝุ่นเช่น ฝุ่นควันจากยานพาหนะ ไฟไหม้ป่า หรือมลพิษจากโรงงาน ที่เดิมทีจะลอยขึ้นไปแต่เพราะความกดอากาศที่ดันเอาไว้จนเกิดเป็น “อากาศปิด” ทำให้ลอยออกไปไม่ได้ ดังนั้น วันที่อากาศปิดซึ่งจะเกิดในช่วงหน้าหนาว จึงเป็นวันที่มีค่าฝุ่นละออง หรือ PM2.5 พุ่งสูง เพราะฝุ่นเหล่านี้โดนเพดานเกราะปิดกั้นเอาไว้ไม่ให้ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ จึงสะสมกันอยู่บนท้องฟ้าซึ่งเมื่อถึงวันที่อากาศเปิด หรือความกดอากาศสูงพัดผ่านไปอากาศสามารถเคลื่อนตัวได้ตามปกติ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ก็จะเบาบางลง  

อีกทั้งฝุ่น PM2.5 เป็นอันตรายที่เรามองไม่เห็น แต่สามารถรับรู้ได้จากอาการผิดปกติของร่างกาย ถ้าใครเริ่มมีอาการ รีบหาหน้ากากอนามัยให้ถูกประเภทมาสวม เช่น N95 ที่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 และโควิดได้พร้อมๆกัน ส่วนสัญญาณเตือนจากร่างกาย ให้ระวังฝุ่น PM 2.5 สังเกตได้ดังนี้

สังเกต 4 สัญญาณเตือนจากร่างกาย

  • เป็นตุ่ม ผื่นนูนแดง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคผิวหนังเรื้อรังเช่น ภูมิแพ้ ลมพิษ สะเก็ดเงิน อาจมีอาการหนักขึ้นกว่าคนทั่วไป​ วิธีการดูแลตนเอง คือ หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง

มีเลือดกำเดาไหล แบบไม่มีสาเหตุ วิธีการดูแลตนเอง คือการสวมหน้ากากให้ถูกประเภทและถูกวิธี

มีอาการแสบ เคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล​ วิธีการดูแลตนเอง คือการสวมหน้ากากให้ถูกประเภทและถูกวิธี

มีอาการแสบจมูก คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ แน่นหน้าอก ภูมิแพ้กำเริบ วิธีการดูแลตนเอง คือการสวมหน้ากากให้ถูกประเภทและถูกวิธี

หากคุณมีอาการเหล่านี้แสดงว่าฝุ่นได้เข้าไปในร่างกายและกระแสเลือด ทำให้อวัยวะต่างๆอักเสบ ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในที่แจ้ง ดูแลตัวเองและเตรียมพร้อมรับมือกันด้วยนะคะ 

ขอบคุณข้อมูล กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข , สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , WWW.NSM.OR.TH , https://www.sciencelearn.org.nz/

คลิปอีจันแนะนำ
หนีออฟฟิศ ไปเที่ยวฟาร์มงู ! โคตรใหญ่ของไทย TheBalltender