ทำไมต้องมี “วันเด็ก” แล้วทำไมต้องเป็นเสาร์ที่สองเดือนมกราคมของทุกปี

เคยสงสัยกันไหมว่าวันเด็กนั้นมีที่มาอย่างไรทำไมต้องมี “วันเด็ก” พร้อมคลายข้อสงสัยที่ว่า ทำไมต้องเป็นเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมของทุกปีด้วย

วันเด็กแห่งชาติ ของประเทศไทย ตรงกับวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมของทุกปี วันเด็กแห่งชาติปีนี้ ตรงกับวันที่ 14 มกราคม 2566 

แล้วเคยรู้ไหม“วันเด็ก” เคยตรงกับวันจันทร์มาก่อน! แต่ถูกเลื่อนมาเป็นเสาร์แทน “วันเด็กแห่งชาติ” ในประเทศไทย จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม คือ วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2498 ตามคำแนะนำของ นายวี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของตนในประเทศ ปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม

ความหมายของเด็ก

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า “เด็ก” ไว้ คือ “เด็ก” หมายถึง คนที่มีอายุยังน้อย ยังเล็ก อ่อนวัน เช่น เด็กชาย คือ คำนำเรียกเด็กผู้ชายที่มีอายุไม่เกิน 14 ปีบริบูรณ์ และ เด็กหญิง คือ คำนำเรียกเด็กผู้หญิงที่มีอายุไม่เกิน 14 ปี บริบูรณ์

ทำไมต้องมี “วันเด็ก” และต้องเป็นเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ?

เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมต้องมีวันที่ทั้งประเทศต้องจัดขึ้นเพื่อเด็กจนเป็วันสำคัญชองชาติ สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ที่รัฐบาลไทยกำหนดไว้ คือ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก สนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก และช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ เพื่อให้เด็กและเยาวชนยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตนและอยู่ในระเบียบวินัยอันดี และเพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็ก

จากนั้นเป็นต้นมา ทางราชการได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันเด็กแห่งชาติ และจัดติดต่อกันมา ข้อมูลของกรมประชาสัมพันธ์ระบุว่า ในปีพ.ศ. 2506 และใน พ.ศ. 2507 ไม่สามารถจัดงานวันเด็กได้ทัน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่งานวันเด็กแห่งชาติไม่มี และเลื่อนออกไป ปี พ.ศ. 2508 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในปีนั้น มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่เพื่อความเหมาะสม

ด้วยเหตุผลว่า ในเดือนตุลาคม ประเทศไทยยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็กไม่สะดวกในการมาร่วมงาน อีกทั้งวันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้ จึงเห็นสมควรกำหนด “วันเด็ก” ไว้ในช่วงต้นปีทุกภาคส่วนจึงต้องให้ความสำคัญกับเด็กเป็นอันดับแรก ๆ คณะรัฐมนตรีในตอนนั้นจึงมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสนอ ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2508 ประกาศเปลี่ยนงานฉลองวันเด็กแห่งชาติจากวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม มาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา งานวันเด็กแห่งชาติจึงได้เริ่มจัดขึ้นมาใหม่อีกครั้งในวันเสาร์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม ใน พ.ศ. 2509 และจัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า ทุก ๆ ปี ในวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะพระราชทานพระบรมราโชวาท สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงโปรดประทานพระคติธรรม และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีจะมอบคำขวัญวันเด็ก แสดงให้เห็นว่าเด็กเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุดของชาติ และคำขวัญที่ติดหูติดปากหลายๆคน คือ คำขวัญปี 2516 “เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ”  ซึ่งให้ไว้โดย จอมพลถนอม นายกรัฐมนตรี ที่ให้คำขวัญวันเด็กไว้มากที่สุด ถึง 9 ครั้ง หรือ 9 ปี 

คำขวัญวันเด็ก ปี 2566  

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบคำขวัญเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2566 ซึ่งตรงกับวันที่ 14 มกราคม 2566 ให้กับเด็กๆ เยาวชนไทย เพื่อเป็นข้อคิดคติเตือนใจ กับอนาคตของชาติ คือ

คำขวัญวันเด็ก 2566 

รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความดี

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขอบคุณข้อมูล : สนเทศน่ารู้ , สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

คลิปอีจันแนะนำ
ไม่กล้าทุบกระปุกออมสินหมู กลัวหมูเจ็บ!