ผู้พิทักษ์ป่าได้เฮ! กรมอุทยานฯ ขอขึ้นเงินเดือนให้ในรอบ 11 ปี

กรมอุทยานฯ ขอขึ้นเงินเดือนผู้พิทักษ์ป่าจาก 9,000 เป็น 11,000 บาท ในรอบ 11 ปี หวังช่วยค่าครองชีพ เป็นขวัญกำลังใจสำหรับงานเสี่ยงภัย

วันนี้(16 พ.ค. 66) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 66 ได้ส่งหนังสือไปถึงอธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนหรือเงินเดือนของบุคคลภายนอกที่ปฏิบัติงานให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตำแหน่งผู้พิทักษ์ป่า จำนวน 13,419 อัตรา เนื่องจากมีการปรับอัตราค่าตอบแทนครั้งสุดท้ายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 จาก 6,000 บาทเป็น 9,000 บาท ต่อเดือน จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลานานถึง 11 ปี แล้ว ซึ่งถือว่าไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่ได้เปลี่ยนแปลงไป

นายอรรถพล กล่าวว่า โดยหากเทียบเงินค่าตอบแทนกับภาระงานที่ปฏิบัติและความเสี่ยงภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านอื่นแล้ว จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างอย่างมาก ทั้งในด้านอัตราค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการและขวัญกำลังใจ โดยในเรื่องนี้ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวราวุธ ศิลปอาชา ได้รับทราบปัญหา และมีนโยบายให้ดูแลเรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการ และสวัสดิภาพ ของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าให้ดีที่สุด ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้ทำเรื่องส่งกรมบัญชีกลางเพื่อขอปรับค่าตอบแทนให้เป็นไม่เกิน 11,000 บาท ต่อคน ต่อเดือน และขอให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีภารกิจในการอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า การป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรของชาติในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า วนอุทยาน พื้นที่ต้นน้ำชั้น 1 และพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ รวมกว่า 73 ล้านไร่ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จึงมีความจำเป็นและสำคัญมาก เนื่องจากการปฏิบัติงานภาคสนาม และการอยู่ในพื้นที่ป่า เป็นงานที่มีลักษณะพิเศษ เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ต้องมีการออกลาดตระเวน เพื่อป้องกันปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย ปราบปรามการลักลอบจุดไฟเผาป่า ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการวางแผนจับกุมผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ ตลอดจนติดตาม จับกุม ควบคุมผู้ต้องหานำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี เป็นต้น

กรมอุทยานฯ จึงต้องจ้างบุคคลภายนอก ซึ่งก็คือราษฎรในท้องถิ่นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความชำนาญในสภาพภูมิประเทศ มีทักษะในการเดินป่า เพื่อร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่ โดยต้องออกไปลาดตระเวนในพื้นที่ป่าทุรกันดารตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน บางครั้งมีความจำเป็นต้องพักแรมในป่าจนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ การปฏิบัติงานดังกล่าวมีความเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดแก่สุขภาพจากสัตว์มีพิษ เชื้อโรค และภัยอันตรายต่างๆ ที่มีอยู่ในป่า นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอันเกิดจากสัตว์ป่าดุร้ายและที่สำคัญคืออันตรายจากผู้กระทำผิดในป่าที่มุ่งร้ายต่อเจ้าหน้าที่อีกด้วย

คลิปอีจันแนะนำ
“อรรถพล” ลุยยกเครื่องกรมอุทยาน-กู้ภาพลักษณ์