15 กันยายน “วันศิลป์ พีระศรี” บิดาแห่งวงการศิลปะ

15 กันยายน “วันศิลป์ พีระศรี” เพื่อรำลึกถึงครูผู้อุทิศตนทั้งชีวิตเพื่อนักเรียนและศิลปะ จนวินาทีสุดท้ายของชีวิต

“ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” 15 กันยายน “วันศิลป์ พีระศรี” เพื่อรำลึกถึงครูผู้อุทิศตนทั้งชีวิตเพื่อนักเรียนและศิลปะ จนวินาทีสุดท้ายของชีวิต 

ศิลป์ พีระศรี หรือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ชื่อเดิมคือ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) เป็นชาวอิตาลีสัญชาติไทย บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย และบิดาแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร เกิดเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2435 ในเขตซานโจวันนี (San Giovanni) เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี  

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เข้าศึกษาระดับชั้นประถม เมื่อปี 2441 พอจบหลักสูตร 5 ปี ก็ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมอีก 5 ปี หลังจากนั้นก็ได้เข้าศึกษาทางด้านศิลปะในโรงเรียนราชวิทยาลัยศิลปะ แห่งนครฟลอเรนซ์ จนจบหลักสูตรวิชาช่าง 7 ปี และได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียน ในขณะที่มีอายุ 23 ปี 

หลังจากนั้นไม่นานก็รับปริญญาบัตรเป็นศาสตราจารย์ที่มีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ วิจารณ์ศิลป์และปรัชญา นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังมีความสามารถทางด้านศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรมอีกด้วย 

เมื่อปี 2466 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรป ซึ่งผลการประกวดครั้งนี้ ทำให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เดินทางมารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6  

และวันที่ 14 ม.ค. 2466 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา 

จนกระทั่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี 2484 ประเทศอิตาลียอมพ่ายแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ส่งผลให้ชาวอิตาเลียนที่อาศัยอยู่ภายในประเทศไทย ตกเป็นเชลยของประเทศเยอรมนีกับญี่ปุ่น แต่รัฐบาลไทยได้ขอควบคุมตัวศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ไว้เอง ก่อนที่จะให้หลวงวิจิตรวาทการ ดำเนินการเดินเรื่องขอโอนสัญชาติจากอิตาเลียนมาเป็นสัญชาติไทย พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “นายศิลป์ พีระศรี” เพื่อป้องกันไม่ให้ต้องถูกเกณฑ์เป็นเชลยศึกไปสร้างทางรถไฟสายมรณะ และสะพานข้ามแม่น้ำแคว เมืองกาญจนบุรี 

โดยเมื่อปี 2480 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้จัดตั้ง “โรงเรียนประณีตศิลปกรรม” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง” ซึ่งได้มีการเปิดสอนหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรม และในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้สั่งให้แยกกรมศิลปากรออกจากกระทรวงศึกษาธิการ และให้มาขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีแทน  

เนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะว่าเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งสาขาหนึ่งของชาติ จึงได้มีคำสั่งให้ พระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้น ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรและตราพระราชบัญญัติ เพื่อยกฐานะ “โรงเรียนศิลปากร” ขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร” เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2486  

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้ออกแบบปั้นและควบคุมการหล่อพระราชานุสาวรีย์ และอนุสาวรีย์สำคัญของประเทศไทย เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี, พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า และพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช  

และเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2505 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยอายุ 69 ปี 7 เดือน 29 วัน 

ข้อมูลจาก: https://www.finearts.go.th/chantaburilibrary , https://th.wikipedia.org/