เปิดชีวิต “ท้าวทองกีบม้า” อันแสนรันทด สู่ตำนานราชินีขนมไทย

เปิดชีวิตแสนรันทด “ท้าวทองกีบม้า” หลังพระเพทราชายึดอำนาจ สู่ตำนานราชินีขนมไทย

หลังจากละครเรื่อง “พรหมลิขิต” ออนแอร์ได้เพียงตอนเดียว ก็ทำให้เกิดกระไวรัลพูดถึงเป็นจำนวนมาก และอีก 1 คน ที่ถูกพูดถึงอยู่ในขณะนี้ คือ ตัวละครที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ อย่าง “ท้าวทองกีบม้า” หรือที่แม่การะเกดเรียกติดปากว่า “แม่มะลิ”  

“ท้าวทองกีบม้า” หรือ นางมารี กีมาร์ เดอ ปิน่า มีชื่อจริงว่า มารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา (Maria Guyomar de Pinha) เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้คิดค้นสูตรตำรับคาวหวานขึ้นชื่อ เช่น ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด และขนมในตระกูลฝรั่งต่างๆ ที่จริงแล้วไม่มีใครหรือหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่านางเป็นผู้คิดค้นสูตรขนมขึ้น เพียงแต่เล่ากันว่านางเป็นลูกครึ่งโปรตุเกส–ญี่ปุ่น ที่น่าจะได้ใช้เวลาที่ลพบุรีและบางกอกในการคิดค้นอาหารคาวหวานเพื่อรับรองแขกบ้านแขกเมือง คำเล่าลือนี้ต่อมากลายเป็นเรื่องที่ทุกคนเชื่อถือกัน และดูจะกลายเป็นเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์ในที่สุด 

ท้าวทองกีบม้า อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านญี่ปุ่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับหมู่บ้านโปรตุเกส เมื่อเติบโตขึ้น ได้แต่งงานกับเจ้าพระยาวิไชเยนทร์หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน ซึ่งเริ่มเข้าทำงานในสยามกับพระคลัง ที่ต้องติดต่อกับชาวต่างชาติเสมอ นางได้ช่วยเหลือสามีดูแลรับรองชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในสยามทั้ง พ่อค้า บาทหลวง และทูต ทั้งที่อยุธยาและที่ลพบุรี  

หลังจากที่สามีของนางเสียชีวิตลงแล้ว ได้เกิดการปฏิวัติขึ้นในปี 2231 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์อยุธยา เพราะเป็นปีที่สิ้นสุดรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเริ่มต้นรัชกาลพระเพทราชา ทั้งถือกันว่าเป็นยุคของการเสื่อมความนิยมในชาวฝรั่งเศสด้วย ขณะนั้น นางสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องประสบเคราะห์กรรมและความทุกข์อย่างสาหัส ทั้งยังต้องถูกคุมขัง  

ต่อมา นางได้ถูกนำตัวไปเป็นคนใช้ในวัง ขณะนั้น หลวงสรศักดิ์ พระโอรสในสมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าแผ่นดินใหม่ ได้หลงใหลนาง และมีพระประสงค์ที่จะนำนางไปเป็นเมีย มีการส่งคนมาเกลี้ยกล่อมพร้อมคำมั่นนานัปการ หวังเอาชนะใจนาง พอไม่สมดั่งใจก็แปรเป็นความเกลียดและขู่อาฆาต 

จนกระทั่ง ปี 2262-2267 หลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าเสือ ชีวิตของนางได้กลับมาดีขึ้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดเกล้าให้นางเข้ามารับราชการฝ่ายใน โดยไว้วางใจให้ดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวง และเป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลองพระองค์ และมีสตรีในบังคับบัญชากว่า 2,000 คน 

ทั้งนี้ นางปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต คืนเงินสู่ท้องพระคลังปีละครั้งมากๆ ทุกปี จนเป็นที่โปรดปรานในองค์พระมหากษัตริย์ รวมทั้งจอร์จ ลูกชายของเธอ ก็ได้เป็นคนใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ 

และเมื่อปี 2260 รัฐบาลฝรั่งเศสได้มีมติอนุมัติให้ส่งเงินรายได้ที่เป็นของฟอลคอนให้นางอีกด้วย ทำให้ชีวิตนางดีขึ้นเรื่อยๆ และบั้นปลายชีวิต ท้าวทองกีบม้าหันมาถือศีลอย่างเคร่งครัด และได้ถึงแก่กรรมในปี 2265 ซึ่งถือว่าเป็นอีกคนที่มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจจริงๆ ค่ะ  

ข้อมูลจาก: ท้าวทองกีบม้า ชีวิตหลังพระเพทราชายึดอำนาจ นางเอาตัวรอดมาอย่างไร? (silpa-mag.com)