เวียนเทียน ‘วิสาขบูชา’ เป็นมาอย่างไร ทำไมถึงสำคัญ

วันวิสาขบูชา 2566 ตรงกับวันที่ 3 มิ.ย.66 เวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

‘วิสาขบูชา’ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งปีนี้ ตรงกับวันที่ 3 มิ.ย.66 วันสำคัญทางพุทธศาสนา กิจกรรมวันวิสาขบูชา วันหยุดราชการ ประวัติครั้งแรกเมื่อสมัยสุโขทัย ความสำคัญคือวันที่พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน

วันวิสาขบูชา ย่อมาจากคำว่า ‘วิสาขปุรณมีบูชา’ แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ดังนั้น วันวิสาขบูชา จึงหมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 ถือว่าเป็นวันสำคัญอย่างยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธขึ้นทั้ง 3 ประการ ได้แก่ วันที่พระพุทธเจ้าประสูติ วันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน 

เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา สำหรับชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก เป็นวันหยุดราชการในหลายๆ ประเทศ อีกทั้งยังเป็นวันสำคัญในระดับนานาชาติตามข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือ Vesak Day อีกด้วย

โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6 หรือวันวิสาขะนี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงถือว่าวันเพ็ญเดือน 6 เป็นวันที่รวมเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนาไว้มากที่สุด และได้นิยมประกอบพิธีพุทธบูชาต่างๆ เช่น ตักบาตร ปล่อยปลา และเวียนเทียน

การเวียนเทียน คือการเดินเวียนรอบปูชนียสถานสำคัญ เช่น พระอุโบสถ วิหาร เพื่อระลึกถึงพระรัตนตรัย โดยเวียนวน 3 รอบไปทางด้านขวา ตามความเชื่อแต่โบราณที่ว่า ขวาเป็นมงคล ดังนั้น สิ่งที่เราเคารพจะต้องอยู่ทางด้านขวา และการเวียนเทียนโดยทั่วไปมักเวียนเทียนช่วง 5 โมงเย็นไปจนถึงช่วงค่ำ 

โดยเริ่มจากพุทธศาสนิกชนเดินทางมารวมตัวกันที่วัด เพื่อเข้าไปบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นออกมาเตรียมตัวหน้าสถานที่ประกอบพิธี เดินเวียนเทียนพร้องพนมมือถือธูปเทียน และดอกไม้เพื่อเป็นเครื่องสักการะ โดยจะมีพระสงฆ์เดินสวดมนต์นำหน้า เวียนไปทางด้านขวาของสถานที่เวียนเทียนจนครบ 3 รอบ เมื่อเดินเวียนเทียนครบ 3 รอบแล้ว ให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปปักและวางไว้ในจุกที่เตรียมไว้

ปัจจุบันนี้ด้วยสถานการณ์โควิด-19 และด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้ มีการเวียนเทียนออนไลน์เกิดขึ้น และผู้คนก็เริ่มหันมาเวียนเทียนออนไลน์กันมากขึ้น 

วันวิสาขบูชา ‘อีจัน’ ขอเชิญชวนสาธุชนผู้ศรัทธา จัดกิจกรรมปฎิบัติธรรม บำเพ็ญมหากุศลอันยิ่งใหญ่เป็นกรณีพิเศษ เหมือนที่เคยปฎิบัติมาทุกๆ ปี เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา อนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามซึ่งแสดงถึงเอกลักษณ์ ให้ยังคงอยู่สืบไป