บ.ซัยโจฯ แจง แอร์สรรพากรไม่เย็น เกิดจากการดัดแปลงอุปกรณ์

บริษัท ซัยโจ เด็นกิ โร่แจง ปมแอร์สรรพากรไม่เย็น สาเหตุมาจากการดัดแปลงอุปกรณ์ ลั่น การติดตั้งถูกต้องตาม TOR

จากกรณีที่มีประเด็นดราม่า การติดตั้งระบบปรับอากาศอาคารกรมสรรพากร จนต้องแก้ไขด้วยงบประมาณที่สูงมาก

ล่าสุด บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่เป็นทีมติดตั้งระบบปรับอากาศในอาคารกรมสรรพากร ได้ออกมาชี้แจงกรณีปัญหาการติดตั้งระบบปรับอากาศ ว่าทางบริษัท ได้ติดตั้งถูกต้อง และตรงตามที่กำหนดใน TOR แล้ว และทางสรรพากรได้มีการตรวจรับงานครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2562

ทางบริษัทฯ ยังบอกอีกว่า บริษัทฯ ทำกับกรมสรรพากรเป็นเพียงสัญญาปรับปรุงติดตั้งระบบปรับอากาศ ในส่วนสัญญาในการบำรุงรักษา กรมสรรพากรได้ทำสัญญากับบริษัทอื่น ซึ่งมีหน้าที่ ดูแลระบบอาคารทั้งหมด ครอบคลุมทั้งระบบไฟฟ้า ประปา ลิฟท์ ดับเพลิง กำจัดน้ำเสีย ฯลฯ 

ในส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลัง ทางบริษัทฯ ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว พบว่ามีการดัดแปลงอุปกรณ์สำคัญของระบบปรับอากาศที่ใช้ในการระบายความร้อน การบำรุงรักษาที่ผิดวิธี และขาดการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ทางบริษัทฯ จึงร้องขอกรมสรรพากร ให้แก้ปัญหาดังกล่าวที่ต้นเหตุ และยินดีให้การแนะนำในการแก้ปัญหาต่อไป

ด้านนายสมศักดิ์ จิตติพลังศรี  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เผยว่า จากปัญหาดังกล่าวพบว่า สภาพอาคารกรมสรรพากรมีข้อจำกัดมาก เนื่องจากอาคารไม่มีที่วางเครื่องระบายความร้อน โดยต้องวางเครื่องทั้งหมดอยู่ในห้องระบายความร้อนที่อยู่ภายในอาคาร ซึ่งติดอยู่กับห้องทำงานทุกชั้น ห้องระบายความร้อนภายในอาคารดังกล่าวมีสภาพแออัดและมีช่องตะแกรงให้ลมเข้าออกเพียงจุดเดียว อีกทั้งยังมีปัญหาของลมธรรมชาติที่พัดสวนเข้ามาด้วย ทำให้การระบายความร้อน และกรมสรรพากรรับทราบปัญหานี้แล้ว

บริษัทฯ ได้ชี้แจงว่า ได้ยื่นประมูลงานปรับปรุงระบบปรับอากาศในอาคารดังกล่าวในราคา 191,844,975.85 บาท ต่ำกว่าราคากลางซึ่งกำหนดไว้ที่ 321,374,755 บาท ซึ่งจากงบประมณดังกล่าว ทางบริษัทฯ แจงว่าได้ประหยัดงบประมาณให้ทางราชการกว่า 130,000,000 บาท

จากนั้น บริษัทฯ ได้เข้าไปปรับปรุงระบบปรับอากาศตามสัญญา โดยติดตั้งตามข้อกำหนดใน TOR แต่ระหว่างตรวจสอบ พบว่า อุณหภูมิรอบเครื่องระบายความร้อนในห้องดังกล่าวสูงถึง 56 องศาเซลเซียส (ขณะที่ TOR กำหนดไว้ที่ 43 องศาเซลเซียส) ส่งผลให้คอมเพรสเซอร์และอุปกรณ์ต่างๆเสียหายเป็นจำนวนมาก

ทางบริษัทฯ จึงได้แก้ไขตามคำแนะนำของวิศวกรผู้ควบคุมงาน และมีการเพิ่มระบบ อุปกรณ์เกินกว่าที่กำหนดใน TOR รวมเป็นเงินกว่า 20,000,000 บาท โดยเฉพาะระบบมอเตอร์พัดลมขนาดใหญ่ ซึ่งสรรพากรมีหนังสือร้องขอให้บริษัทฯ ได้พิจารณาปรับอุณหภูมิภายในห้องในสูงขึ้น และบริษัทฯ ได้ส่งมอบงานแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2562

ทางบริษัทฯ ยังบอกอีกว่า ระบบปรับอากาศดังกล่าว เป็นระบบที่มีความละเอียดอ่อนมากทางเทคโนโลยี เนื่องจากเป็นระบบที่ถูกออกแบบพิเศษ เพื่อแก้ปัญหาที่มีข้อจำกัดของอาคารกรมสรรพากรโดยเฉพาะ

สุดท้าย ทางบริษัทฯ แจงว่า  หลังจากที่ส่งมอบงาน ให้กับสรรพากรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบในการบำรุงรักษาระบบปรับอากาศดังกล่าวแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังคงให้การช่วยเหลือซ่อมแซมระบบปรับอากาศให้อาคารดังกล่าวหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุด คือเดือนมิถุนายน ปี 2565 และบริษัทได้ใช้งบประมาณในการซ่อมแซมทั้งอาคารกว่า 10 ล้านบาท แม้สัญญาจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม

ซึ่งสาเหตุคาดว่า ความไม่เชี่ยวชาญในระบบปรับอากาศ ที่มีซับซ้อนดังกล่าว จนส่งผลให้เกิดปัญหาซ้ำแล้วซ้ำอีกจนถึงปัจจุบัน 

สุดท้าย ทางบริษัทฯ แนะว่า เพื่อการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ กรมสรรพากรควรแยกงานระบบต่างๆ ของอาคารออกจากกัน เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านช่วยดูแลงานบำรุงรักษาอาคาร จึงจะสามารถบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้