สุโขทัย พนังแม่น้ำยม แตก ถนนถูกตัดขาด ขณะที่ หลายจังหวัด ยังคงจมน้ำ

ภาคอีสานน้ำท่วม สุโขทัย มี พนังแม่น้ำยม แตก ชาวบ้านต้องหอบข้าวของหนีน้ำกันกลางดึก ตอนนี้น้ำลดลงไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังน่าเป็นห่วงอยู่ดี ขณะที่อีกหลายจังหวัด ยังจมน้ำอยู่ต่อเนื่อง

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.สุโขทัย หลังจากที่มีฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน ทำให้พนังกั้นน้ำ บริเวณสะพานสิริปัญญารัตน์ แตก ทำให้น้ำท่วมขังผิวจราจร กระแสน้ำไหลเร็วและแรง บนทางหลวงหมายเลข 1195 ตอน เตว็ดใน-วังไม้ขอน ขณะนี้ปิดการจราจรชั่วคราว ระหว่าง กม.12+750 (หมู่ 6 บ้านวังใหญ่ )-กม.13+150 (หมู่ 8 บ้านวังทอง) อำเภอศรีสำโรง ชาวบ้านที่จะต้องผ่านเส้นทางนี้ ให้ใช้เส้นทางเบี่ยง แยกเกาะวงษ์เกียรติ์ และ แยกวังทอง และอย่าเข้าใกล้เสาไฟฟ้าเด็ดขาด

มีรายงานว่า จุดขาดกว้างประมาณ 40 เมตร ส่งผลให้บ้านวังใหญ่ หมู่ที่ 6 และบ้านวังทอง หมู่ที่ 8 ได้รับผลกระทบ ถูกน้ำไหลบ่าเข้าท่วมหมู่บ้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและท้องถิ่นได้อพยพคนไปอยู่ในที่ปลอดภัยในขณะที่ระดับน้ำยังสูงขึ้น

ล่าสุดเมื่อ เวลา 08.00 น. บริเวณสะพานศรีสำโรง อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย ได้ปิดการจราจร ทางหลวงหมายเลข 1056 ตอน ศรีสำโรง – ดอนโก ระหว่าง กม.0+500 -0+800 (แยกวัดเกาะ – สะพานข้ามแม่น้ำยม หมู่ 5 ต.วัดเกาะ อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย) เพิ่มเติม

ขณะที่ สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.ตาก จากรายงานล่าสุด วันที่ 2 ต.ค.66 เวลา 06.30 น. พบว่า ในพื้นที่ อำเภอสามเงา ขณะนี้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนประชาชน ได้แก่ ต.ยกกระบัตร ม.1,2,3,4,5,7,8,9,10,12 ต.วังจันทร์ ม.1,2,3 ต.วังหมัน ม.4 และพื้นที่ อำเภอเมืองตาก ในพื้นที่ ต.โป่งแดง และ ต.วังประจบ สถานการณ์คลี่คลายระดับน้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ

ขณะที่ ในจ.กาฬสินธุ์ มวลน้ำยังไหลเข้าเขื่อนลำปาวต่อเนื่องเฉลี่ยวันละ 25-30 ล้านลบ.ม. เบื้องต้นได้รับผลกระทบทั้งด้านบนเขื่อนและท้ายเขื่อนรวม 10 อำเภอ จำเป็นต้องระบายน้ำคงที่วันละกว่า 29 ล้านลบ.ม. มวลน้ำเหล่านี้เกิดจากฝนตกเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และยังคงไหลเติมเข้าอ่างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเช้าวันนี้ไหลเข้าเพิ่มอีก 27 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้ขณะนี้เขื่อนลำปาวมีปริมาณอยู่ที่ 2,066 ล้าน ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น104.34 เปอร์เซ็นต์ จากความจุระดับกักเก็บ 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร เกินระดับกักเก็บ 86 ล้านลูกบาศก์เมตร และรับน้ำได้อีก 86 ล้านลูกบาศก์เมตร

ปัจจุบัน มีพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนได้รับผลกระทบจำนวน 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอร่องคำ อำเภอฆ้องชัย อำเภอยางตลาด และอำเภอกมลาไสย รวม 19 ตำบล 104 หมู่บ้าน 2,121 ครัวเรือน บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบจำนวน 29 หลัง พื้นที่การเกษตร นาข้าว ได้รับผลกระทบประมาณ 17,403 ไร่ บ่อปลา 42 บ่อ ถนน 3 สาย

ในส่วนพื้นที่ด้านบนเขื่อน ซึ่งเป็นพื้นที่รอบเขื่อนลำปาว และเป็นเอกสารสิทธิ์สัญญาเช่าของกรมธนารักษ์ ได้รับผลกระทบจำนวน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าคันโท อำเภอหนองกุงศรี อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอห้วยเม็ก อำเภอสามชัย และอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ รวม 21 ตำบล 95 หมู่บ้าน 3,120 ครัวเรือน บ้านเรือนราษฎรได้รับ ผลกระทบ 483 หลัง พื้นที่การเกษตรนาข้าวได้รับผลกระทบประมาณ 13,404 ไร่ พืชไร่ 519 ไร่ วัด 4 แห่ง บ่อกุ้ง 100 บ่อ ถนน 14 สาย คอกสัตว์ 5 แห่ง ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการช่วยเหลือต่อไป

แต่ยังมีอีกหลายๆพื้นที่ ที่ยังคงจมน้ำอยู่ อีจันขอให้กำลังใจนะครับ

คลิปอีจันแนะนำ
คลิปโซเชียล หนูไม่ทนแล้ว! หนูจะหนีออกจากบ้าน