ยังไงนะ ไกด์นำเที่ยวกัมพูชา เล่า ไม่เคยเห็นรูป ครูกายแก้ว

เอ๊ะ ยังไงนะ ไกด์นำเที่ยวกัมพูชา เล่า จากประสบการณ์ทำทัวร์มากว่า 20 ปี ไม่เคยเห็นรูป ครูกายแก้ว ในประวัติศาสตร์กัมพูชา

จำเหตุการณ์นี้กันได้ไหมคะลูกเพจ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 9 ส.ค. 66 ถนนรัชดาภิเษก ก่อนถึงซอยรัชดาภิเษก 36 ทำให้รถติดยาว เพราะมีรูปปั้นขนาดใหญ่ติดคานสะพาน พบว่า รูปปั้นดังกล่าว คือ รูปปั้น ครูกายแก้ว 

รู้ที่มา ครูกายแก้ว รูปปั้นที่ติดคานสะพานรัชดา

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 66 เพจเฟซบุ๊กชื่อ ไกด์โอ๋ พาเที่ยว ได้โพสต์ข้อมูลอีกด้านของ ครูกายแก้ว ค่ะ เล่าว่า 

จากเนื้อหาข่าวที่ได้อ่านมา ครูกายแก้ว หรือที่หลายๆ คนอาจจะรู้จักในชื่อของ พ่อใหญ่ บรมครูผู้เรืองวิทย์ มีที่มา คือ มากับพระธุดงค์ จ.ลำปาง พระรูปนี้ได้ธุดงค์ไปทำสมาธิที่ปราสาทนครวัดนครธม ประเทศกัมพูชา

ต่อมาได้มอบครูกายแก้วให้กับลูกศิษย์ คือ พ่อหวิน นักร้องเพลงไทยเดิม กองดุริยางค์ทหารสมัยก่อน ผู้เป็นอาจารย์ของอาจารย์ ผู้สร้างองค์ปฐมของครูกายแก้วขึ้นในประเทศไทย

ครูกายแก้วที่ได้รับมานั้น มีขนาดเล็กประมาณ 2 นิ้ว ลักษณะคนนั่งหน้าตัก ต่อมาครูกายแก้วปรากฎกายให้อาจารย์เห็น อาจารย์ก็ได้ทำการวาดรูปจากจินตนาการ และหล่อรูปครูกายแก้วเป็นองค์แรก ลักษณะเป็นองค์ยืน คล้ายคนแก่  

อ้างอิงตามหลักฐานที่ปรากฎบนกำแพงบายน ที่มีประวัติของการเวก ซึ่งเป็นพวกนักดีดสีตีเป่า ถือเป็นครูของศาสตร์ศิลป์ทั้งหลายในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ของกัมพูชา

ซึ่งไกด์คนนี้ได้ให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งค่ะ จากการที่ไกด์ได้เรียน อักษรในจารึกเขมรโบราณ ได้เล่าว่า 

“ข้อเท็จจริง 

– จากประสบการณ์ การทำทัวร์นครวัดมากว่า 20 ปี ไม่เคยเห็นมี พระธุดงค์  เดินเท้า ปักกลด ไปที่ “นครวัดหรือนครธม” แต่มีพระ “ซื้อทัวร์ หรือ ให้จัดทัวร์” อยู่เป็นประจำ 

– เท่าที่เดิน นครวัด-นครธม มากว่า 200 ครั้ง ก็ไม่เคยเห็น “พระ”ไปนั่งทำสมาธิที่ตัวปราสาทเลย เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ผู้คนพลุกพล่าน แต่ถ้ามีก็คือไปนั่งเพื่อโพสต์ท่าถ่ายรูปเท่านั้น 

– เท่าที่ผมเดินปราสาท “บายน” มาเยอะพอสมควร ก็ไม่เคยเห็นมีรูปนี้ ตามที่กล่าวอ้าง 

– ครูของพระเจ้า “ชัยวรมเทวะ ที่ ๗” ตามจารึกปราสาทตาพรหม ปรากฎชื่ออยู่เพียงสองท่าน คือ “ศรีมังคลารถเทวะ” และ “ศรีชยกีรติเทวะ” 

– ถ้าจะมีรูปที่เหมือนรูป “ครูกายแก้ว” อย่างที่ปรากฎในข่าว ผมก็นึกออกอยู่ที่เดียว ก็คือที่ระเบียงภาพแกะสลักที่ “นครวัด” ทางระเบียงด้าน “ทิศเหนือฝั่งตะวันออก” 

– ซึ่งรูปแกะสลักที่ระเบียงฝาผนังฝั่งนี้เป็นเรื่องราวของ “พระกฤษณะปราบท้าวพาณอสูร” และฉากนี้เป็นภาพของ เหล่า “นักสิทธิ์ , คนธรรพ์ , วิทยาธร, กินนร, กินรี” ที่อาศัยอยู่ตามซอกผา หรือถ้ำ ที่ตั้งอยู่ตามเชิงเขาไกรลาส เพราะรูปแกะสลักที่อยู่ด้านบนของภาพแกะสลักนี้ คือรูปที่ “ท้าวพาณอสูร” ไปเข้าเฝ้าขอความอนุเคราะห์ต่อ “พระศิวะ” ที่ประทับอยู่บนยอดเขาไกรลาส 

– แต่ภาพแกะสลักที่ระเบียงฝาผนังด้านนี้ ก็ไม่ได้แกะสลักในสมัย “พระเจ้าสูรยวรมเทวะ ที่ ๒” อีกเช่นกัน เพราะในสมัยของพระองค์นั้น แกะสลักภาพสำเร็จอยู่เพียง ๖ ภาพเท่านั้น 

– ก็ขอยกเอาข้อความของอาจารย์ ข้าพเจ้า Kang Vol Khatshima ที่แปลจารึกที่แกะสลักอยู่เหนือภาพนี้ โดยมีคำแปลว่า 

“พระบาทมหาวิษณุโลก ทำยังไม่สำเร็จอีก ๒ แผ่น ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระราชโองการบรมราชาธิราชผู้บรมบพิตร ให้สลักเรื่องราว จนสำเร็จเมื่อลุ เอก จัตวา อัฐ ปัญจ ศก (มหาศักราช ๑๔๘๕ ตรงกับ พ.ศ.๒๑๐๖) ปีกุน วันเพ็ญเดือน ๔ สำเร็จพนักระเบียงทั้ง ๒ มุม เหมือนดั่งโบราณ” 

– ก็แสดงว่า ภาพที่ดูเหมือนภาพต้นฉบับของ “ครูกายแก้ว” นี้ เพิ่งจะแกะสลักเพียงปี พุทธศักราช ๒๑๐๖ เท่านั้น หรือเพียง ๔๖๐ ปีเท่านั้น 

– ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ เรื่องราวของ “ครูกายแก้ว” นี้จึงไม่มีความเก่าแก่ถึงยุค “นครวัด” แห่ง “สูรยวรมเทวะ ที่ ๒” หรือยุค “บายน” แห่ง “ชัยวรมเทวะ ที่๗” ตามที่ผู้สร้างรูปนี้ กล่าวอ้าง แต่อย่างใด” 

นอกจากนี้ไกด์ ยังบอกอีกว่า “ถ้าไม่เชื่อที่ผมเขียน ต้องมาเรียน อักษรในจารึกเขมรโบราณ ดูครับ”  

วิธีขอพร ครูกายแก้ว