ณพ ณรงค์เดช – คุณหญิงกอแก้ว แถลงปมคดีหุ้นวินด์ ยืนยันความบริสุทธิ์

ณพ ณรงค์เดช และคุณหญิงกอแก้ว พูดครั้งแรก แถลงปมคดีหุ้นวินด์และครอบครัวณรงค์เดช ยืนยันความบริสุทธิ์ ไม่เคยโกงใคร

วันนี้(2 พ.ย. 66) นายณพ ณรงค์เดช พร้อม นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ ที่ปรึกษากฎหมาย และ คุณหญิงกอแก้ว บุญยะจินดา พร้อม นายอภิวุฒิ ทองคำ ที่ปรึกษากฎหมาย ได้ร่วมกันแถลงข่าวเปิดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับคดีหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ยืนยันความบริสุทธิ์หลังจากศาลพิพากษาแล้ว

โดย นายณพ ณรงค์เดช เผยว่า ตลอดระเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ตนเลือกที่จะไม่พูด เพราะอยากรอให้ศาลพิพากษาให้ครบจบทุกคดีก่อน จึงจะออกมาให้ข้อเท็จจริงครั้งเดียว เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งวันนี้ศาลได้พิพากษาทั้งหมดทุกคดีแล้ว เกือบ 6 ปีแล้วที่มีบุคคล 2 กลุ่ม คือ นายนพพร ศุภพิพัฒน์ และ พี่กับน้องของตน คือ นายกฤษณ์ – นายกรณ์ ณรงค์เดช ที่ได้มีการเผยแพร่ ให้ข่าวที่ฟ้องตนและคุณหญิงกอแก้ว (แม่ยาย) โดยใช้วิธีการให้ข่าวเบี่ยงเบนประเด็น โดยไม่ให้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน ทำให้ผู้ที่ติดตามข่าวเกิดความเข้าใจผิด ว่าตนไปโกงนายนพพร โกงพี่น้อง ทำให้ตนและคุณหญิงกอแก้ว รวมไปถึงภรรยาและลูกๆ เสื่อมเสียชื่อเสียง และได้รับผลกระทบต่างๆ มากมาย

นายณพ ณรงค์เดช กล่าวว่า ในคดีที่ถูกพี่ชายกับน้องชาย ให้คุณพ่อ (นายเกษม ณรงค์เดช) มาฟ้องตนในข้อหาใช้เอกสารปลอมและปลอมเอกสารนั้น เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 65 ศาลอาญา รัชดา ได้พิพากษายกฟ้อง และเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 66 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้พิพากษายกฟ้อง นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 66 ที่ศาลแขวงพระนครใต้ ซึ่งเป็นคดีที่นายนพพร ได้ฟ้องตนและพวกในคดีที่เรียกว่าโกงเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นคดีอาญา ซึ่งศาลก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทุกคนเช่นกัน ทำให้วันนี้ตนพร้อมที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน เพื่อที่จะชี้แจงให้สาธารณชนได้เห็นถึงการเบี่ยงเบนประเด็นที่ทำให้ตนเป็นคนผิด ทั้งที่พยานหลักฐานชัดเจนแล้วว่าตนไม่ได้ทำผิดใดๆ

ซึ่งเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นจากที่ตนไปซื้อบริษัทวินด์ เอนเนอร์ยี่ จากนายนพพร ซึ่งตอนนั้นเป็นบุคคลที่มีคดีติดตัวและได้หลบหนีออกจากไทย จึงมีความจำเป็นต้องขายหุ้นบริษัทวินด์ออกมา เป็นการขายหุ้นแบบขายขาด การขายเป็นการโอนหุ้นมาให้ตนก่อนและชำระเงินทีหลัง เพื่อแก้ไขปัญหาของบริษัทวินด์ที่ไม่สามารถกู้เงินเพื่อดำเนินการกิจการต่อไปได้ จากปัญหาที่นายนพพรเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ธนาคารจึงไม่ให้สินเชื่อ เมื่อตนรับโอนหุ้นมาแล้ว ตนได้มีการชำระเงินงวดแรกเมื่อปลายปี 2561 จำนวนเงิน 90.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3 พันกว่าล้านบาท แต่เมื่อนายนพพรได้รับเงินจากตนไปแล้ว นายนพพรได้ฟ้องเพื่อเอาหุ้นคืนที่ศาลอังกฤษ แต่นายนพพรแพ้คดี โดยอนุญาโตตุลาการได้ให้นายนพพรรับเงินค่าหุ้นส่วนอื่นๆ ต่อไป เอาหุ้นคืนไม่ได้ ตนจึงได้ชำระเงินส่วนที่เหลืออีก 85.75 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3 พันล้านบาท ให้กับนายนพพรไป ซึ่งครบตามสัญญา เหลือเพียงเงินโบนัสที่ยังโต้แย้งกันอยู่ในศาลไทย ที่นายนพพรฟ้องในข้อหาโกงเจ้าหนี้เท่านั้น ซึ่งศาลแขวงพระนครใต้ ได้มีคำพิพากษาไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 66 ว่าไม่มีการโกงและให้ยกฟ้อง ตามที่กล่าวไปก่อนหน้านี้

“ส่วนเรื่องระหว่างตนกับพี่น้องนั้น มีคุณพ่อเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เป็นเรื่องที่ผมเสียใจที่สุดและไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นในชีวิต มูลเหตุที่เกิดเรื่องนี้เนื่องจาก หุ้นวินด์ ที่ผมซื้อมาจากนายนพพร เพราะพี่น้องต้องการหุ้นวินด์ที่ผมซื้อมาเป็นของเขา จำนวน 49 % แบบฟรีๆ ครับ โดยผมเป็นผู้ลงทุนคนเดียว ไม่ได้เป็นกงสี ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาหาร 3 คุณกฤษณ์เพิ่งได้ให้สัมภาษณ์เรื่องธุรกิจกงสี ผมไม่แน่ใจว่าหมายถึงอะไร” ณพ ณรงค์เดช กล่าว

นายณพ ณรงค์เดช ยังกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือด้วยว่า ทรัพย์สินที่ถือร่วมกัน 3 พี่น้อง และรอเวลาแบ่งสรรกัน มีเพียงทรัพย์มรดกหลายรายการที่คุณแม่ (คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช) กำหนดไว้ชัดเจนในพินัยกรรม ให้แบ่งกันระหว่างพี่น้อง 3 คน ตามเจตนารมย์ของคุณแม่ โดยกำหนดให้คุณกฤษณ์เป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการแบ่งออกมา ส่วนธุรกิจที่คุณกฤษณ์ คุณกรณ์ และตน เป็นผู้ถือหุ้นร่วมกัน โดยถือหุ้นคนละ 1 ใน 3 มีเพียงบริษัท เคพีเอ็น แลนด์ จำกัด เท่านั้น ซึ่งในอดีตตนได้ทำหน้าที่ดูแลธุรกิจนี้ให้กับครอบครัวด้วยความเต็มใจ จนกระทั่งมาเกิดความขัดแย้งเรื่องของหุ้นวินด์ ตนจึงโดนกันออกมา ไม่ได้ร่วมบริหารหรือร่วมตัดสินใจใดๆ รวมทั้งการที่บริษัท เคพีเอ็น แลนด์ จำกัด เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ไรมอนแลนด์ จำกัด (มหาชน) ด้วย ทั้งๆ ที่ตนถือหุ้น 1 ใน 3 นอกจากบริษัท เคพีเอ็น แลนด์ จำกัด แล้ว ตนยังสนใจทำธุรกิจด้วยตัวเองเสมอมา เพราะเติบโตมากับคุณพ่อคุณแม่ ที่ปลูกฝังและสอนให้ขยันทำมาหากินด้วยความสุจริต

ธุรกิจส่วนตัวของตน ปัจจุบันมีสถาบันดนตรี KPN ซึ่งเป็นธุรกิจที่ตนรักและภูมิใจมาก เพราะตนทำตามความปราถนาของคุณแม่ ปัจจุบันเรามี 26 สาขาทั่วประเทศ ส่วนธุรกิจโรงพยาบาลนวเวช ตนได้ร่วมทุนกับผู้ถือหุ้นอีก 2 บริษัท

“ที่ผ่านมา เมื่อมีธุรกิจที่น่าสนใจ ผมจะชวนพี่กับน้องก่อนเสมอ ว่าสนใจร่วมลงทุนด้วยหรือไม่ เช่นเดียวกับการที่ผมเข้าไปซื้อหุ้นวินด์ ผมได้ถามพี่น้องว่าสนใจจะร่วมทุนด้วยหรือไม่ ผมได้คำตอบว่าเพ้อฝัน เขาปฏิเสธที่จะไม่ลงทุนกับผม ผมจึงเดินหน้าจัดหาเงินทุนด้วยตนเอง เพราะผมเชื่อว่าธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่มีอนาคต และเมื่อผมได้เข้าไปบริหารงานของวินด์ จนกระทั่งมีกำไร สามารถจ่ายเงินปันผลได้ พี่กับน้องผมก็มากล่าวอ้างว่าได้ร่วมลงทุนด้วย ผมได้ชี้แจงไปว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม แต่คุณกฤษณ์กับคุณกรณ์ได้ไปยื่นฟ้องผมที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อบังคับให้ผมโอนหุ้นบริษัทวินด์ให้เขาทั้ง 2 คน รวมกัน 49% แบบฟรีๆ โดยอ้างว่าร่วมลงทุนด้วย ซึ่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้มีคำพิพากษาว่า ทั้ง 2 คน ไม่ได้ร่วมลงทุนซื้อจ่ายเงินค่าหุ้นวินด์ร่วมกับผม นอกจากนี้ยังไปฟ้องคดีอาญาว่าคุณหญิงกอแก้วและผม ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม เพื่อเป็นการกดดันให้ผมยอมแบ่งหุ้นวินด์ให้เขาทั้ง 2 คน ซึ่งศาลได้ยกฟ้องทุกคดีนะครับ การแถลงข่าวเรื่องปลอมเอกสารก็เพื่อจะเบี่ยงเบนความสนใจจากผลของคดีที่ยกฟ้องทั้ง 2 คดี คุณหญิงกอแก้วไม่ได้ปลอม ผมไม่ได้ปลอม และไม่ได้ใช้เอกสารปลอม คุณกฤษณ์และคุณกรณ์ก็ไม่เคยให้ข่าวว่าศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษายกฟ้อง ว่าคุณกฤษณ์และคุณกรณ์ไม่ได้ร่วมลงทุนซื้อหุ้นวินด์กับผมเลย เท่ากับไม่มีสิทธิ์ใดๆ ในหุ้นวินด์ ที่พยายามออกสื่อเป็นเท็จทั้งสิ้นว่าผมโกง นอกจากนี้คุณกฤษณ์ก็ไม่เคยให้ข่าวเลยว่าถูกผมฟ้องว่าเป็นผู้จัดการมรดกที่ไม่ยอมแบ่งมรดกตามเจตนารมย์ของคุณแม่ที่เขียนไว้ในพินัยกรรม ให้แก่ผมและหลานๆ ตั้งแต่ปี 2556 นับจากวันที่แม่จากเราไปเป็นเวลา 10 ปีแล้ว คุณกฤษณ์เองก็ยังมีพฤติการณ์เบียดบังค่าเช่าที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดมาถึงลูกทั้ง 3 คน เอาไปเป็นของตนเองแต่ผู้เดียว ซึ่งผมได้ฟ้องเรื่องนี้ที่ศาลแขวงกรุงเทพใต้และศาลเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายจนมีคำพิพากษาจำคุกคุณกฤษณ์เป็นเวลา 12 เดือน ไม่รอลงอาญา ที่ผ่านมาผมนับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในครอบครัว จึงไม่ต้องการพูดผ่านสื่อ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แต่คุณกฤษณ์และคุณกรณ์ ได้ใช้สื่อในการให้ร้ายกล่าวหาผม ว่าเป็นคนโกงพี่โกงน้อง ทำให้ครอบครัวมีปัญหา จนเกิดความแตกแยกภายในครอบครัว ผมจึงถูกบังคับด้วยสถานการณ์ ให้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงให้ครบ เพื่อที่จะสรุปได้ว่าใครกันแน่ที่โกง แม้ว่าหลายปีที่ผ่านมา ผมจะไม่มีโอกาสเข้าไปพบคุณพ่อที่บ้าน ไม่ได้รับแม้กระทั่งโอกาสให้เข้าไปหาคุณพ่อ ไม่ว่าลูกผมหรือหลาน ก็ไม่สามารถพบคุณพ่อได้ ก็อยากจะเรียนครับว่าผมและลูกๆ ยังเคารพคุณพ่ออย่างสูงเช่นเดิม และรอวันที่จะได้เข้าไปกราบคุณพ่อ” ณพ ณรงค์เดช กล่าว

ขณะที่ คุณหญิงกอแก้ว บุญยะจินดา กล่าวว่า ในชีวิตไม่เคยคิดว่าจะต้องออกมาแถลงข่าวใดๆ ที่ผ่านมาไม่ได้ออกมาพูดหรือให้ข่าวใดๆ ก็เพราะต้องการความชัดเจนของกฎหมายและศาล บัดนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าตนไม่ได้โกงใครและไม่ได้ปลอมลายเซ็นใครตามที่กล่าวหา ที่ผ่านมามีการเผยแพร่ข่าว ที่ไม่ครบถ้วนทำให้สาธารณชนเข้าใจผิด ขณะตนในวัย 70 ปี ครอบครัวอยู่อย่างสงบร่มเย็นเป็นสุข ไม่ได้ต้องการอะไรของใคร วันหนึ่งเมื่อลูกมาขอความช่วยเหลือตนก็ต้องช่วยเหลือ เขาเป็นพ่อของหลาน 2 คน และเป็นสามีของลูกสาว วันนั้นไม่มีใครให้ความช่วยเหลือเขาเลยและไม่มีใครอยากจะยุ่งกับบริษัทนี้ ตนเมื่อรักลูกรักหลานก็ต้องรักลูกเขยด้วย วันนั้นถ้าตนไม่ได้ซื้อหุ้นวินด์ไว้ บริษัทอาจถึงขั้นล้มละลายเพราะธนาคารไทยพณิชย์ก็จะไม่ให้สินเชื่อ ณพมาพูดกับตนว่าตนเป็นคนสุดท้ายเพื่อที่จะขอความช่วยเหลือ ตนจึงตัดสินใจว่าจะให้ความช่วยเหลือแต่มีเงื่อนไขว่า แม่จะไม่ออกหหน้านะ ณพหาคนที่เชื่อใจและไว้ใจได้มาใส่ชื่อแทนแม่ เมื่อวินด์พ้นวิกฤติและทำรายได้ปีละหลายพันล้าน ตนก็ไม่คิดเลยว่าเหตุการณ์วุ่นวายจะเกิดขึ้น คดีความต่างๆ การกล่าวหาก็มา

“ถ้าคุณลงทุน คุณก็ต้องได้หุ้น ถ้าคุณไม่ลงทุน คุณย่อมไม่มีสิทธิ์ อันนี้เป็นข้อที่เราชัดเจนนะคะ เมื่อไม่ลงทุนแต่อยากได้หุ้น เมื่อไม่ได้หุ้นก็เบี่ยงเบน หลักฐาน ความจริงทุกอย่าง การเงิน เรามีครบนะคะ ไม่ใช่พูดไปเรื่อย พูดไม่ครบ พูดเบี่ยงเบน ไม่ครบเรื่อง ทำให้คนอื่นได้รับความเสียหาย พูดแต่เป็นบางส่วน หยิบมาทำให้คนอื่นได้รับความเสียหาย ดิฉันขอให้สังคมลองย้อนกลับไปถึงตอนนั้น บริษัทซึ่งไม่มีคุณค่าไม่มีราคา ไม่มีใครอยากได้ ดิฉันขอยืนยันว่า ดิฉันไม่เคยโกงใครและไม่ได้ปลอมลายเซ็นใคร ตอนนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าศาลได้มีคำพิพากษาออกมาทั้ง 3 ศาล ว่าดิฉันไม่ได้โกงและไม่ได้ปลอมลายเซ็นใครอย่างที่กล่าวหา” คุณกอแก้ว กล่าว

ด้าน นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ ที่ปรึกษากฎหมาย กล่าวว่า ความแตกต่างที่มีการฟ้องร้องที่ศาลประเทศอังกฤษ ซึ่งมีตนและไทยพาณิชย์และนายอาทิตย์ กับคดีที่เมืองไทยในประเด็นเดียวกัน แต่ที่เมืองไทยนั้น ไม่มีการฟ้อง ธ.ไทยพาณิชย์ แต่พอได้ฟังมาสักระยะก็เริ่มเข้าใจข้อเท็จจริง โดยนายนพพร ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงแต่ถือผ่านบริษัทที่ชื่ออาร์อีซี( REC) และเป็นเจ้าของ (REC) 100% โดยอาร์อีซี( REC ) เป็นผู้ถือหุ้นของ วินด์ เอนเนอร์นี่ โฮลดิ้ง (WEH) อยู่เพียง 59.45% ในขณะที่ขายหุ้น ส่วนสาเหตุที่ขายหุ้นออกเพราะว่า นายนพพร โดยหมายจับคดีสำคัญคือ ม.112 และหนีออกจากเมืองไทย ซึ่งทางสถาบันการเงินในประเทศไทย รวมถึงไทยพาณิชย์ก็ไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินกับบริษัทที่มีนายนพพรมาเกี่ยวข้อง ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยวินด์เอ็นเนอร์ยี่ ขณะนั้นจึงเกิดปัญหาทำให้ต้องขายหุ้นให้ได้ และ บ.อาร์อีซี ก็ต้องขายออกไปด้วย แต่นายนพพร ก็ไม่ได้ถืออาร์อีซีโดยตรง ซึ่งมีบริษัทอีก 2-3 บริษัทที่ตั้งขึ้นในต่างประเทศ

นายวีระวงค์ กล่าวอีกว่า จะสรุปง่ายๆ ว่านายณพ ซื้อหุ้นจากนายนพพร แต่ไม่ได้ซื้อหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ แต่เป็นหุ้นอาร์อีซี ฉะนั้นใครที่เป็นเจ้าของอาร์อีซี จะเป็นเจ้าของหุ้นวินด์ฯ (WEH) จุดที่นายนพพรขายหุ้น ทางไทยพาณิชย์ก็พร้อมจะสนับสนุนสินเชื่อ ซึ่งขณะนั้นวินด์ เอ็นเนอร์ยี่ มีโครงการ วินด์ฟาร์ม ทำไฟฟ้าจากกระเเสลม อยู่ 8 โครงการ  ไทยพาณิชย์ สนับสนุน 2 โครงการ และมีอีกโครงการคือวะตะแบก ส่วนอีก 5 โครงการยังไม่ได้เริ่ม โดยโครงการไฟฟ้าพลังลม ต้องมีที่ดินที่มีลม ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ของรัฐ เรียกว่าที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งวินด์ฟาร์มทั้งหมดอยู่ ส.ป.ก.ต้องมีสัญญาเช่า และจำกัดอายุ จากนั้นต้องใช้สัญญาให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ส่งผลให้ต้องระบุวันที่จะผลิตไฟฟ้า เพื่อไม่ให้ประเทศชาติเสียหาย หากทำไม่ได้ก็จะถูกปรับ หรืออาจถูกเรียกค่าเสียหายและยกเลิกสัญญา ซึ่งหลังจากที่นายณพ มาเป็นผู้ซื้อหุ้น ก็เท่ากับนายนพพรออกไป ทางไทยพาณิชย์ก็กลับมาสนับสนุนต่อ โดยเงื่อนไขการเบิกเงินจะต้องให้เจ้าของโครงการลงทุนก่อน

ทั้งนี้ ทางที่ปรึกษากฎหมาย ได้มีการเผยข้อเท็จจริงสำคัญ ซึ่งเป็นคำพิพากษาของทุกคดีด้วย

คดีที่ 1 – คดีฮ่องกง HCA 1525/2018 (ศาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกง)

เกษม ณรงค์เดช เป็นโจทก์ ฟ้องโกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด จำกัด จำเลยที่ 1 ณพ ณรงค์เดช จำเลยที่ 2 คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา จำเลยที่ 3 เรื่องละเมิดและขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เมื่อ 2561

คำพิพากษา: อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง โดยให้ชำระค่าใช้จ่ายในอัตราสูงสุด ให้แก่จำเลย  

คดีที่ 2 – คดีใช้เอกสารปลอม อ.2497/2561 (ศาลอาญา รัชดา)

เกษม ณรงค์เดช เป็นโจทก์อ้างว่าตนเองในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด จำกัด ฟ้องคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา จำเลยที่ 1 ณพ ณรงค์เดช จำเลยที่ 2 และสุรัตน์ จิรจรัสพร จำเลยที่ 3 เรื่องความผิดเกี่ยวกับเอกสาร เมื่อปี 2561

คำพิพากษา: ยกฟ้อง พยานผู้เชี่ยวชาญยันกันไม่อาจรับฟังเป็นยุติ ลายมื่อชื่อไม่ได้ผิดแผกแตกต่างให้เห็นชัดเจนว่าเป็นลายมือชื่อปลอม เงินช่วยเหลือจากครอบครัวก็เป็นเงินกู้ยืม ซึ่ง ณพ รับผิดชอบภาระหนี้และการบริหารจัดการคนเดียวจึงไม่ใช่การร่วมลงทุนในความหมายของกฎหมาย พยานโจทก์รับฟังไม่ได้โดยปราศจากข้อสงสัย ว่าเอกสารทั้ง 3 ฉบับเป็นเอกสารปลอม

คดีที่ 3 – คดีเรียกทรัพย์คืน พ.1031/2562 (ศาลแพ่งกรุงเทพใต้)

เกษม ณรงค์เดช เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย 14 คน และมีจำเลยร่วมอีก 31 คน เมื่อปี 2562 เรื่องให้เรียกทรัพย์คืน (หุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด)

คำพิพากษา: โจทก์ขอถอนฟ้อง ไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเรื่องนี้ โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง หลังจากที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเพิกถอนการอายัตเงินปันผลของบริษัท วินด์ฯ โดยให้เหตุผลชัดเจนว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แม้หากฟังว่า เกษม ให้หุ้นดังกล่าวแก่ ณพ การเรียกคืนจะต้องปรากฏว่า ณพ ประพฤติเนรคุณ แต่ไม่ปรากฏเหตุว่า ประพฤติเนรคุณ

คดีที่ 4 – คดีผิดสัญญา เรียกทรัพย์คืน พ.978/2565 (ศาลแพ่งกรุงเทพใต้)

กฤษณ์ และกรณ์ ณรงค์เดช เป็นโจทก์ร่วมฟ้อง ณพ ณรงค์เดช เป็นจำเลยที่ 1 บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 บริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด จำกัด เป็นจำเลยที่ 3 และคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา เป็นจำเลยที่ 4 เมื่อปี 2565 เรื่องสัญญาเพิกถอนนิติกรรม เรียกทรัพย์คืน

คำพิพากษา: ยกฟ้อง โจทก์ทั้งสองไม่สามารถนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่า เอกสารดังกล่าวในการโอนหุ้นไม่เป็นเอกสารที่แท้จริง หรือเป็นพยานเอกสารที่รับฟังไม่ได้เพราะเหตุใด ข้อกล่าวอ้างต่าง ๆ เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานกฎหมาย เมื่อโจทก์สืบไม่ได้จึงต้องฟังว่า การโอนหุ้นพิพาทหรือการซื้อหุ้นพิพาทมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ก็ทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดไม่เป็นโมฆะ เรื่องความเห็นเจ้าของหุ้นของโจทก์ทั้งสอง เมื่อได้ความว่า เงินที่ซื้อหุ้นพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ทั้งสองและไม่ปรากฏว่าเอกสารที่อ้างเป็นเอกสารปลอม การโอนหุ้นพิพาทถูกต้องตามแบบของกฎหมาย จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของหุ้นพิพาท ไม่จำต้องโอนหุ้นคืนแก่โจทก์ทั้งสอง

คดีที่ 5 – คดีปลอมลายเซ็น อ.1708/2564 (ศาลอาญากรุงเทพใต้)

คดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1) เป็นโจทก์ฟ้อง ณพ ณรงค์เดช กับพวกรวม 3 คน เมื่อปี 2564 ในฐานความผิด ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารสิทธิปลอม ร่วมกันปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม

คำพิพากษา: ยกฟ้อง ศาลใช้ดุลพินิจรับฟังว่า เอกสารทั้ง 6 ฉบับปลอม แต่ทางนำสืบและพยานหลักฐานรวมทั้งคำเบิกความของเกษมไม่มีข้อเท็จจริงใดที่ยืนยันว่า ณพ คุณหญิงฯ และสุภาพร เป็นผู้ปลอม มีส่วนเกี่ยวข้องในการลงลายมือชื่อหรือนำมาใช้หรืออ้างชื่อใด ซึ่ง กฤษณ์ ก็เบิกความว่า ไม่ทราบว่าใคร เป็นผู้ลงลายมือชื่อปลอม ส่วน กรณ์ ก็เบิกความว่า ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ในขณะลงลายมือชื่อ จึงไม่ทราบว่า ผู้ใดลงลายมือชื่อ จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้ร่วมกันปลอมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการปลอม