ย้อนอ่าน อดีตนายกแพทยสภา พูดถึงการแก้ปัญหา แพทย์ขาด

ย้อนอ่าน ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ อดีตนายกแพทยสภา พูดถึงการแก้ปัญหา แพทย์ขาด ครม.อนุมัติงบ 5 หมื่นล้าน ผลิตแพทย์เพิ่ม

ถูกจุดหรือไม่ แก้ปัญหา แพทย์ขาด ด้วยวิธีนี้?
ระบบการทำงานของโรงพยาบาล งานที่ต้องรับผิดชอบของบุคลากรทางการแพทย์ ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลัง หมอปุยเมฆหรือ พญ.นภสร วีระยุทธวิไล intern และแพทย์พี่เลี้ยงออร์โธปิดิกส์ ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ราชบุรี ทวิตข้อความเล่า 1 ปีการทำงาน เหนื่อย ท้อ บางวันแอบไปร้องไห้ในห้องน้ำ งานหนักเหมือนแรงงานทาส กระทั่งมีเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่อยากทนอีกต่อไป จึงยื่นใบลาออก!

ปุยเมฆ แจงเหตุลบทวิต ลาออกจากราชการ กระทบเพื่อนร่วมงาน

แม้แต่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็ได้ออกมาโพสต์แสดงความเห็นในมุมมองของตน ถึงเหตุการณ์ดังการณ์เช่นกัน เพราะมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกจุด

หมอธีระวัฒน์ ฉะ ระบบงานโรงพยาบาล ปัญหาที่ไม่เคยถูกแก้!

วันนี้ (5 มิ.ย. 66) เราลองไปย้อนอ่านมุมมอง ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตนายกแพทยสภา พูดถึงการโครงการ ผลิตแพทย์เพิ่ม แก้ปัญหาแพทย์ขาด เมื่อปี 2565 กันค่ะ
เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 65 คือวันที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการ ผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ในระยะที่ 2 ตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี พ.ศ. 2570 เพื่อผลิตแพทย์ให้ได้ 13,318 คน ภายใต้กรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 50,608.40 ล้านบาท

สำหรับโครงการข้างต้นนี้เป็นการดำเนินการสืบเนื่องจากโครงการฯ ระยะที่ 1 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการ แก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ และการกระจายแพทย์ตลอดจนขยายศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ส่งเสริมการเป็น Medical Hub เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและหารายได้ให้กับประเทศ

ทว่า…

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กลับไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ และมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด!

การแก้ปัญหานี้ไม่ตรงจุดอย่างไร?

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ เคยพูดไว้ดังนี้

ที่จริงแล้วประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเพิ่มเลย เพราะตอนนี้กำลังการผลิตแพทย์ของเราอยู่ที่ปีละราวกว่า 2,500 คน ถ้านับรวมแพทย์ที่มา หรือจบจากต่างประเทศอีก จะได้ประมาณ 3,000 คนต่อปี ฉะนั้นถ้าจะเพิ่มตามตัวเลขที่ว่าก็อาจจะกลายเป็นประมาณ 5,000 คนต่อปี ซึ่งมากไปจนเกินศักยภาพการผลิต เพราะต้องใช้ทั้งอาจารย์ เครื่องมือ รวมทั้งผู้ป่วยที่จะให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้ อันจะทำให้ได้แพทย์ที่ไม่พร้อมที่จะให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีคุณภาพซึ่งส่งผลให้เป็นปัญหาในระบบสาธารณสุขในที่สุด

คำถามคือ เมื่อไม่จำเป็นต้องผลิตแพทย์เพิ่มแล้ว ควรเอางบประมาณไปแก้ปัญหาเดิมๆ ที่มีอยู่แล้วอย่างไร

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ มองว่าทุกวันนี้ การกระจายตัวของแพทย์ ไม่ค่อยทั่วถึง เพราะส่วนมากจะอยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองใหญ่ๆ อย่างเช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น เป็นส่วนมาก ส่วนสาเหตุนั้นก็มีหลากหลาย เช่น ตำแหน่งไม่ค่อยมี อย่างตำแหน่งแพทย์ใช้ทุนในปีนี้ก็มีให้ไม่ครบ แม้จะสัญญาว่าจะให้ครบแต่ก็ไม่รู้จะได้จริงหรือไม่

ส่วนเรื่องตำแหน่งของแพทย์ที่บรรจุตามโรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลจังหวัดก็ยังมีไม่เพียงพอ เมื่อขอไปก็ไม่ค่อยได้ นั่นก็เป็นเหตุที่ทำให้ แพทย์ขาดแคลน ทำให้แพทย์บางส่วนหนีออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน เปิดคลินิก หรือออกไปทำงานด้านความงาม ซึ่งบางคนก็ไม่ได้อยากไป หากรัฐมีตำแหน่งงานให้ แม้ค่าตอบแทนจะน้อยกว่าเขาก็ยินดี

“รวมไปถึงเรื่องภาระงานที่หนักเกินไป นั่นก็สืบเนื่องมาจาก การไม่มีตำแหน่งเพียงพอ ถ้าสมมติว่ามีตำแหน่งให้เขาเพียงพอ ภาระงานเขาก็จะกระจายกันไป เมื่อกระจายกันไปเขาก็จะทำงานแบบมีความสุข คนไข้ก็ปลอดภัย”

กรอบอัตรากำลังมีจำกัด ไม่มีการเพิ่ม ตรงนี้ก็ควรจะเพิ่มให้มากกว่าการนำเงินไปผลิตแพทย์ออกมาที่มีแต่ปริมาณและก็ไม่รู้ว่าคุณภาพจะเป็นอย่างไร เพราะทั้งอาจารย์แพทย์และเคสผู้ป่วยที่จะศึกษาก็น้อย ไม่เพียงพอต่อปริมาณแพทย์ที่เพิ่มขึ้น แพทย์ในขณะนี้ก็จะได้ฝึกน้อยกว่าในอดีต และก็ไม่ได้ทำหัตถการต่างๆ มากนัก

มากไปกว่านั้นก็อยากจะขอให้มีการขึ้นค่าตอบแทนในการอยู่เวร โดยเฉพาะอย่างยิ่งของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และที่อื่นๆ ในหน่วยงานของรัฐค่อนข้างต่ำทำให้แพทย์ไม่มีกำลังใจ

ส่วนอีกหนึ่งประเด็นที่อดีตนายกแพทยสภาพูดถึง ก็คือ แพทย์ที่เกษียณอายุแล้ว แต่มีศักยภาพและพร้อมที่จะกลับเข้ามาช่วยงานซึ่งส่วนนี้ก็มีไม่น้อยแต่ตรงนี้ก็ไม่มีงบประมาณจ้างที่เพียงพอ

“ผมเคยเห็นเวลาไปโรงพยาบาลเอกชน หมอระดับอดีตอธิบดี รองอธิบดีมาอยู่เวรห้องฉุกเฉิน ใส่ท่อช่วยหายใจได้หมด เหมือนหมอรุ่นเด็กๆ เลย เพราะเคยทำมาแล้วก่อนจะมาเป็นผู้บริหาร เมื่อมาฟื้นนิดนึงก็ดึงความรู้กลับมาได้เพราะว่าเขาเคยมีประสบการณ์อยู่แล้ว”

สำหรับแพทย์ที่ไปอยู่ไกลๆ ส่วนมากจะเป็นแพทย์ที่จบใหม่ หากมีแพทย์อาวุโสเข้าไปช่วยเสริม หรือเป็นการจ้างพิเศษที่ได้ค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมก็จะช่วยได้มาก เพราะจะทำให้แพทย์รุ่นใหม่ได้ทั้งความรู้ ประสบการณ์ และทักษะการปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย เมื่อเขาเห็นตัวอย่างที่ดีในการดูแลผู้ป่วยของอาจารย์แล้ว เขาจะปฏิบัติกับผู้ป่วย หรือพูดจากับผู้ป่วยไม่ดีไม่ได้แล้ว

แน่นอนว่าสิ่งที่รัฐควรจะช่วยก็คือหางบประมาณ และให้ค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม

โดย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ พูดทิ้งท้ายว่าที่ผ่านมา กรอบอัตรากำลังของแพทย์เป็นปัญหามาโดยตลอด ถ้านายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณให้ ก.พ. ก็จะไปจัดหาตำแหน่งมาจนได้

“งบไม่ให้แต่จะไปผลิตแพทย์เพิ่ม ผมไม่เห็นด้วยเลย แทนที่จะเอางบประมาณมาเพิ่มกรอบอัตรากำลัง มาเพิ่มค่าตอบแทน แต่กลับไปผลิตแพทย์เพิ่มซึ่งเป็นการแก้ไม่ตรงจุด ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วย และผมคิดว่าหมอส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย เท่าที่สอบถามมาก่อนหน้านี้”
ที่มา: thecoverage