ปิยะมิตร หมู่บ้านอดีต โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา : เบตง

ประวัติ ปิยะมิตร หมู่บ้านอดีต โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา ที่ผันตัวมาเป็น ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก

หมู่บ้านปิยะมิตร หรือ หมู่บ้านของอดีต โจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา (จคม.) ซึ่งผันตัวมาเป็น ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ในปี พ.ศ.2530 มีทั้งหมด 5 แห่งในพื้นที่ อ.เบตง อ.บันนังสตา จ.ยะลา และ อ.นาทวี จ.สงขลา 

แต่กว่าที่ โจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา กลุ่มนี้จะวางอาวุธลงหันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีประวัติที่มายาวนาน

โจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา (จคม.) 

เป็นชื่อเรียก กองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา หรือ พคม. (The Communist Party of Malaya – CPM) ที่หลบหนีการปราบปรามของรัฐบาลมาเลเซีย หลังรัฐบาลมาเลเซียประกาศภาวะฉุกเฉิน ในปี พ.ศ.2491 – 2503 เข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการและเคลื่อนไหวตามแนวชายแดนไทย – มาเลเซีย ซึ่งตามหลักฐานที่ปรากฏ โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา บางส่วนปรากฏตัวครั้งแรกในประเทศไทย เขตพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เมื่อ พ.ศ.2492  

และเนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธ์จีนจึงทำให้มีชื่อเรียกและรู้จักกันในนามว่า “จีนคอมมิวนิสต์มลายา” หรือ “โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา” หรือ เรียกสั้นๆ จคม.  

ต่อมา การเคลื่อนไหวปฏิบัติการและการตั้งฐานที่มั่นของ โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา ในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ก่อให้เกิดผลและผลกระทบต่อประเทศไทยในด้านต่างๆ ทั้งด้านการเมือง การปกครอง และความมั่นของของชาติ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายในการป้องกันและปราบปราม ด้วยการทำความตกลงร่วมมือกับมาเลเซีย นับตั้งแต่การประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อ พ.ศ. 2491 โดยได้จัดตั้ง “กองปราบปรามผสม” มีกรรมการ 2 คณะ คือ คณะกรรมการรักษาการณ์กลาง และ คณะกรรมการรักษาการณ์ทักษิณ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ต่อจากนั้นได้ทำความตกลงร่วมมือกันอีกหลายครั้งและปรากฏในรูปของการทำความตกลงร่วมมือในการปฏิบัติการร่วมตามแนวพรมแดนไทย – มาเลเซีย 

ในสมัย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ หรือ นโยบายการเมืองนำการทหาร ที่รู้จักกันในนาม “นโยบาย 66/23” พร้อมกับจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ 43 (พตท. 43) เพื่อทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายทุกรูปแบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการปราบปรามโจรจีนคอมมิวนิสต์

จากการดำเนินการปราบปรามขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์ทั้งทางการเมืองการทหารอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่ดำเนินนโยบาย 66/2523 ยุค พลโทหาญ ลีลานนท์ เป็นแม่ทัพภาค4 ใช้ นโยบายใต้ร่มเย็น กดดันโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา ปฏิบัติการจิตวิทยาและการทหารตามแผนยุทธการใต้ร่มเย็น11 และ ยุทธการใต้ร่มเย็น15 จนสามารถยึดกองกำลังของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาได้หลายพื้นที่

ต่อมาในสมัย พลโทวันชัย จิตต์จำนง และ พลโทวิศิษย์ อาจคุ้มวงษ์ เป็นแม่ทัพภาค4 และ พลตรีกิตติ รัตนฉายา (ยศขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังผสมเฉพาะกิจฝ่ายไทย ได้มีการเจรจากับโจรจีนคอมมิวนิสต์เพื่อยุติปัญหาในฐานะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ตามแนวนโยบาย 66/2523 และนโยบายใต้ร่มเย็นของกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ 43 ภายใต้การบังคับบัญชากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4 ส่งผลให้ขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์ กรมที่ 8 และกรมที่ 10 เข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เมื่อ 1 มีนาคม 2530 และ 28 เมษายน 2530 หลังจากนั้นได้มีการเจรจากับผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อยุติปัญหาอีก 5 ครั้งที่จังหวัดภูเก็ต 

ภายหลังการเจรจาทั้ง 5 ครั้ง จึงได้มีการลงนามในความตกลงเพื่อยุติสถานการณ์การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2532 ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมี จีนเป็ง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาเป็นผู้ลงนามฝ่ายคอมมิวนิสต์ ดาโต๊ะ ฮาจี วันซีเดท ปลัดกระทรวงมหาดไทยมาเลเซียเป็นผู้ลงนามฝ่ายมาเลเซีย และ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการทั่วไปและรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเป็นประธานฝ่ายไทยในฐานะพยาน ถือเป็นการยุติบทบาทของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา

ซึ่ง นโยบายของรัฐบาลไทยที่มีต่อโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาที่เข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เมื่อ 1 มีนาคม พ.ศ.2530 และเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2530 รัฐบาลไทยได้เสนอแนวทางให้เลือก 2 แนวทาง คือ 

1). ส่งกลับประเทศมาเลเซีย 

2). เข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทย ซึ่งรัฐบาลก็ได้ยื่นข้อเสนอให้ที่ดินทำกินครอบครัวละ 15 ไร่ และให้สัญชาติไทยเมื่ออยู่ครบ 5 ปี 

โดยการดำเนินการกับโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาที่เข้าร่วมเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย รัฐได้ดำเนินการดังนี้ 

ขั้นตอนที่1 – นำผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยไปที่ ศูนย์ใต้ร่มเย็นสัมพันธ์ กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ 43 (พตท 43) ค่ายสิรินทร จังหวัดยะลา จัดทำประวัติ ถ่ายรูป อบรมฟื้นฟูจิตใจ และให้ความรู้พื้นฐานทางสังคมในการปรับตัวกับสังคมภายนอก 

ขั้นตอนที่2  ดำเนินการสร้างที่พักชั่วคราว พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณที่จัดให้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้พัฒนาชาติไทย 

ขั้นตอนที่3 – ดำเนินการปรับพื้นที่ สร้างบ้านพักและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น 

ขั้นตอนที่4 – ส่งมอบหมู่บ้าน ให้ฝ่ายบ้านเมืองในลักษณะหมู่บ้านหมู่บ้านอาสาพัฒนาและการป้องกันตนเอง (อพป.) และพิจารณาให้ใบต่างด้าวผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยตามขั้นตอนกฎหมาย โดยอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกองทัพภาค4 ในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้ 

1. ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา (ปิยะมิตร1) 

2. ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา (ปิยะมิตร2) 

3. ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา (ปิยะมิตร3) 

4. ตำบลถ้ำทะลุ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา (ปิยะมิตร4)  

5. ตำบลคลองกวาง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา (ปิยะมิตร5) 

สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายา หรือ โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา ภายหลังจากเข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยก็ได้อาศัยและใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมาจวบจนปัจจุบันนี้ 

และเมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา อีจันมีโอกาสได้ไปเที่ยวที่ หมู่บ้านปิยะมิตร3 มาค่ะ โดยที่นี่มีสภาพพื้นที่เป็นภูเขา มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ฝนตกชุก ชาวบ้านจึงประกอบอาชีพการเกษตรเป็นหลัก ซึ่งมีการทำแผนการเกษตร 3 ระยะ คือ  

1. ระยะยาว ได้แก่ สวนยางพารา จะปลูกในที่ห่างไกลแหล่งน้ำ เพราะใช้เฉพาะน้ำฝน   

2. ระยะกลาง (3-5 ปี) ได้แก่ ผลไม้ยืนต้นต่างๆ เช่น ส้ม ลองกอง ทุเรียน  

3. ระยะสั้น (30 วัน-1 ปี) ได้แก่ ผักต่างๆ เช่น มะละกอ กล้วย ผักน้ำ ผักบุ้ง  

ทำให้ชุมชนบ้านปิยะมิตร 3 มีผลผลิตทางการเกษตรตลอดทั้งปี และเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ ขายได้ราคาดี มีการรวมกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ กลุ่มปศุสัตว์ปิยะมิตร3 เลี้ยงไก่เบตง เลี้ยงปลาจีน รวมทั้งทำเกษตรชีวภาพ ผลิตปุ๋ยชีวภาพเองจากเศษผักและหัวปลา  

แต่จากที่เห็น เบตงมันคือ ดงทุเรียน! 

เพราะตลอดทางขึ้นเขาอัยเยอร์เวง มีแต่ต้นทุเรียนปลูกไว้ 2 ข้างทาง แต่ละต้นลูกก็ดกเอาการ ใครได้ไปเที่ยวเบตง ระวังไปยืนงงในดงทุเรียนนะคะ เยอะจริงๆ