หมอช้าง เมืองสุรินทร์ ทำพิธี เซ่นปะกำ ผ่านไป 3 วัน ช้างป่าเพิ่ม 5 ตัว

8 หมอช้าง ชื่อดัง เมืองสุรินทร์ ทำพิธี เซ่นปะกำ ไหว้เทพเจ้า ของ กลุ่มคนเลี้ยงช้าง ผ่านไป 3 วัน ช้างป่า เพิ่มขึ้น 5 ตัว

วันนี้ (20 ก.พ.66) ทีมข่าวอีจัน รายงานว่า หลังจากที่เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 66 ที่ผ่านมา 8 หมอช้างชื่อดังเมืองสุรินทร์ นำโดย นายชื่น แสนดี อายุ 92 ปี และนายเหิร จงใจงาม อายุ 83 ปี ซึ่งเป็นหมอช้างอาวุโส จากหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก บ.ตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ร่วม จนท.อาสาสมัครผลักดันช้างป่า และชาวบ้านในพื้นที่ ทำพิธี เซ่นปะกำช้างป่าอันศักดิ์สิทธิ์ ตามคำเชิญของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เดชชาติ นิยมตรง หรือ ดร.บอมบ์ คนสุรินทร์เหลา ที่ติดตามให้ความสำคัญการเข้ามาของช้างป่า และการทำหน้าที่อาสาสมัครผลักดันช้างป่า พื้นที่รอยต่อป่าตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก กับชุมชนตะเข็บชายแดนอีสานใต้ จ.สุรินทร์ ที่ชายป่า บ.หนองคันนา ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ และ จ.บุรีรัมย์ เพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นขวัญกำลังใจพี่น้องอาสาสมัครผลักดันช้างป่า รวมทั้งชาวบ้าน เกษตรกรที่อาศัยอยู่ตลอดแนวชายแดน ให้มีความสงบสุข ร่มเย็น ปลอดภัย และอยู่ร่วมกับช้างป่าอย่างเป็นมิตรที่ดีต่อกัน อย่างสันติสุข และเพื่อเป็นการสื่อสารตามวามเชื่อไปถึงช้างป่าอย่าได้ดุร้ายและทำลายชีวิตและทรัพย์สินชาวบ้าน

หลังจากนั้น 3 วัน ทีมข่าวอีจันได้รับการประสานจาก ดร.บอมบ์ เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ พร้อมรับฟังข้อมูล การเพิ่มขึ้นของจำนวนช้างป่า จากเดิมที่มีในพื้นที่จำนวน 4 ตัว และวันนี้ได้รับรายงานว่า มีการเข้ามาเพิ่มอีก 5 ตัว รวมมีช้างป่าในพื้นที่รอยต่อป่าพนมดงรัก ป่าหนองคันนาใน และพื้นที่เกษตรกรรม จำนวน 9 ตัว ซึ่งบริเวณดังกล่าว จะมีปราสาทโบราณที่มีสระน้ำโบราณอยู่ เช่น ประสาทตาเมือนทม ปราสาทตาเมือนโต๊ด ปราสาทตาเมือนตู๊จ

ซึ่งเป็นที่น่าแปลกมากและน่าสนใจว่า ก่อนการทำพิธีเซ่นปะกำ ช้างป่าที่เข้ามาในพื้นที่ จะเข้าทำลายพืชสวนเกษตร รวมทั้งเพิงพักของชาวบ้าน แต่เป็นเรื่องแปลกและน่าอัศจรรย์ใจว่า หลังจาก “พิธีเซ่นปะกำ” เมื่อวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ทำให้มีจำนวนช้างป่าเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายเหมือนหลายๆครั้งที่ผ่านมา กลับกลายเป็นว่าความสัมพันธ์คนกับช้างป่า ที่หวังพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งอาหารร่วมกัน มีความเป็นมิตรเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านหลายคนต่างก็คิดไปต่างๆนานาว่า น่าจะเกิดจากการทำพิธีเซ่นปะกำที่ผ่านมาแน่นอน แต่ก็มีชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งได้บอกว่า น่าจะเป็นการช่วยกันดูแลระหว่างคนกับช้างและไม่มีการกระทำรุนแรงกับช้างก็เลยไม่ดุร้าย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เดชชาติ นิยมตรง หรือ ดร.บอมบ์ คนสุรินทร์เหลา นักวิชาการวางแผนภาคและเมือง (เสื้อคลุมสีดำ) ได้ให้มุมมองความเชื่อ ความศรัทธาส่วนบุคคลว่า ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง แถมยังมีความสำคัญเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสุรินทร์ น่าจะเป็นตัวชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ และความเป็นมงคล ที่จะนำสิ่งดีๆเข้ามาในพื้นที่ ที่อาจเป็นการยกระดับการพัฒนาในอนาคตอันใกล้นี้ก็เป็นได้

นายวีรชัย แขกรัมย์ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครผลักดันช้างป่าประจำจังหวัดสุรินทร์ (เสิ้อลาย)ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ก่อนหน้านี้ช้างป่าที่เข้ามาในเขตพื้นที่จะมีอาการดุร้ายทำลายข้าวของต่างๆแม้กระทั่งพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน หลังจากทำพิธีเส้นปะกำช้างป่า ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะว่าช้างรู้สึกว่าจะเป็นมิตรกับชาวบ้าน อยู่ร่วมกับคนแบบไม่ดุร้าย แล้วก็ข้าวของพืชไร่ก็ลดความเสียหายลง ตอนนี้ช้างป่าจากแต่ก่อนมีแค่ 4 ตัวตอนนี้เพิ่มมาอีก 5 ตัวรวมกันเป็น 9 ตัวแล้ว มีเพิ่มมาอีก สำหรับทีมอาสาสมัคร ก็ยังคงทำหน้าที่เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อชาวบ้านและพ่อแม่พี่น้องในเขตพื้นที่

ความเป็นมาของพิธีกรรม เส้นปะกำช้าง เป็นความเชื่อที่มีต่อปะกำช้างของชาวไทยกูย เส้นปะกำช้างถือว่าเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ มีเทวาอารักษ์ หรือวิญญาณของบรรพบุรุษรักษา คุ้มครองอยู่ด้วย พิธีกรรม เซ่นปะกำ หรือ แซนปะกำช้าง มีวิวัฒนาการมาจาก คนเลี้ยงช้างชาวกูย ที่นับถือ “ผีบรรพบุรุษหรือผีปะกำ” เปรียบเสมือนเทพเจ้าของกลุ่มคนเลี้ยงช้าง มีการสร้างศาลปะกำเพื่อเป็นที่สิงสถิตของผีปะกำ และใช้เป็นที่เก็บอุปกรณ์ในการเถื่อนช้าง รวมทั้งเชือกปะกำที่เชื่อว่ามีดวงวิญญาณของบรรพบุรุษสิงสถิตอยู่ โดยจะมี “พิธีไหว้ศาลปะกำ” เป็นประจำปีทุกปี บางครั้งเรียกว่า การเลี้ยงปะกำ หรือเลี้ยงโรงปะกำ

ชาวกวยอาเจียงมีความเชื่อว่าการจะกระทำการใด ๆจะต้องมีพิธีกรรมบวงสรวงไหว้ศาลปะกำก่อนทุกครั้ง เพื่อความเป็นสิริมงคล มิฉะนั้นเชื่อกันว่าจะประสบกับอุปสรรคต่าง ๆได้อีก ทั้งหากไม่มีพิธีบวงสรวงศาลปะกำก่อน อาจจะทำให้การจัดงานไม่ราบรื่น และเจ้าของช้างก็ไม่ยินดีที่จะให้ช้างของตน เข้าร่วมงานด้วย

ดังนั้น พิธีไหว้ศาลปะกำ จึงเป็นพิธีกรรมของชาวกวยเลี้ยงช้าง ปะกำนี้เป็นคำที่ชาวกวยเลี้ยงช้างใช้เรียกเชือก หรือบ่วงบาศก์สำหรับใช้ในการคล้องช้าง ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่าหนังปะกำบ้าง แต่ทั้งนี้เชือกหรือบ่วงบาศก์ดังกล่าว จะต้องเป็นเชือกที่ได้ผ่านการทำพิธีเพื่ออัญเชิญวิญญาณของผีบรรพบุรุษ ที่เคยเป็นหมอช้างและพระครูผู้ที่เป็นหมอช้าง ชาวกวยเลี้ยงช้างทุกคนนับถือว่าเป็นบรมครูช้างของตนเข้าไปสิงอยู่ในเชือกนั้นแล้วเท่านั้น ฉะนั้นพ่อหมอช้างและครอบครัวจะต้องเคารพ และเก็บรักษาไว้อย่างดี ทั้งนี้เพราะพวกเขาถือว่าหนังปะกำ มีผีประจำปะกำ หรือครูประจำปะกำ ที่สามารถจะบันดาลให้โชคดีหรือโชคร้ายในการคล้องช้างได้ ดังนั้นสิ่งที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษก็คือห้ามเหยียบ ห้ามผู้หญิงหรือผู้ที่ไม่ใช่สายโลหิตแตะต้องปะกำ

คลิปอีจันแนะนำ
เปิดใจฮีโร่ นาทีชีวิต ช่วยสาวหมดสติบนเครื่อง