ลิงก์ปลอม แอคเคาท์ปลอม เฟซบุ๊กบอกวิธีแก้ไว้ เราต้องช่วยกัน

“ข่าวด่วน คลิปเต็มๆ กดดูลิงก์เลย” ข้อความเหล่านี้ จริงๆแล้วมันคือ มิจฉาชีพค่ะ เฟซบุ๊กบอกวิธีแก้ไว้ เราต้องช่วยกัน

เคยเห็นคอมเมนท์แบบนี้กันไหมคะ อีจันเห็นบ่อยมากเวลาที่เราโพสต์ข่าว ผ่านไปไม่ถึง 1 นาที จะมีแอคเคาท์โผล่มาแสดงความคิดเห็น และ มีการแปะลิงก์ ให้กดดู โดยมีข้อความที่เราอ่านแล้ว พาใจอยากจะกดลิงก์นั้น ข้อความเหล่านี้ค่ะ คือ แอคเคาท์ปลอม ที่อาจทำให้ใครหลายคนที่ทำธุรกิจ อาจจะรู้สึกว่า ทำไมมันผุดขึ้นมาเยอะทุกวัน และ ดูไม่น้อยลงเลยสักที

วันนี้อีจันมีโอกาสได้เข้าฟังการร่วมพูดคุย “รู้เท่าทันภัยลวงออนไลน์”

ที่ถูกจัดขึ้นโดยเฟซบุ๊ก ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐค่ะ เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความปลอดภัยให้คนที่ใช้แพลตฟอร์ม ใครอยากรู้ว่าจะต้องแก้ปัญหานี้ยังไงต้องอ่านค่ะ !

คุณเฮเซเลีย มาร์กาเรต้า ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก Meta ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บอกว่า “ปัญหาภัยลวงบนโลกออนไลน์ (scam) นับเป็นประเด็นที่มีความท้าทายสูง ซึ่งบ่อยครั้งมีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายที่มีการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน มีเงินทุนสนับสนุนอย่างเป็นระบบและทำเป็นรูปแบบกระบวนการ ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่แพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากสแกมเมอร์มักมีการดำเนินการจากหลากหลายแหล่ง ทั้งนอกแพลตฟอร์ม หรือออฟไลน์ด้วย เราจึงต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงเทคนิคต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา Meta ไม่อนุญาตให้มีการหลอกลวงบนแพลตฟอร์มและเรามุ่งมั่นในการรักษาความปลอดภัยในการให้บริการ รวมถึงการมอบเครื่องมือและโซลูชั่นต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้ปลอดภัยจากปัญหาบัญชีปลอมและพฤติกรรมที่ไม่ประสงค์ดีต่าง ๆ”

นอกจากนี้ Meta ได้มีการตรวจจับและป้องกันสแกมบนแพลตฟอร์มของ Meta อีกด้วย โดยมีการลบเนื้อหาที่มีวัตถุประสงค์ในการหลอกลวง จงใจให้ข้อมูลที่ผิด หรือ ฉ้อโกง หรือ แสวงหาผลประโยชน์จากคนอื่น ด้วยการหลอกลวงเพื่อให้ได้เงิน หากแพลตฟอร์มพบว่า บัญชีใดบัญชีหนึ่ง มีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการหลอกลวง เจ้าของบัญชีดังกล่าว จะต้องยืนยันตัวตน ว่าไม่ได้ใช้งานบัญชีปลอม หรือ นำเสนออะไรที่ไม่เป็นความจริง หากเจ้าของบัญชีไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ตามที่กำหนด บัญชีดังกล่าวก็จะถูกลบ

นอกจากนี้ Meta ยังใช้เทคนิคการดำเนินงานที่หลากหลายเพื่อตรวจจับปัญหาภัยลวงออนไลน์บนแพลตฟอร์มของ Meta ประกอบด้วย โดยใช้เทคโนโลยี machine learning เพื่อตรวจสอบเนื้อหาและบัญชีที่ละเมิดนโยบายของ Meta

-ลดการเข้าถึงเนื้อหาที่อาจเป็นเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นภัยลวง

-ตรวจสอบเข้มข้นบัญชีที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีการละเมิดกฎต่าง ๆ

-จัดตั้งช่องทางการรายงานเนื้อหาภัยลวงโดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้และหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย

-ตรวจสอบเพื่อลบบัญชีปลอมออกจากแพลตฟอร์มเป็นประจำ

ในรายงานการบังคับใช้มาตรฐานชุมชนประจำไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2566 Meta ได้เดินหน้าลบบัญชีปลอมออกกว่า 676 ล้านบัญชีทั่วโลกบน Facebook โดย 98.8% ถูกตรวจพบและลบออกไปผ่านการดำเนินงานเชิงรุกด้วยเทคโนโลยี AI ก่อนที่จะมีการรายงานเข้ามาจากผู้ใช้ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 Meta ยังได้ดำเนินการลบเนื้อหาที่เป็นภัยหลอกลวงเป็นจำนวน 1.1 พันล้านชิ้น โดย 95.3% เป็นเนื้อหาที่ถูกตรวจจับผ่านการดำเนินงานเชิงรุกโดยเทคโนโลยี AI

มาถึงช่วงตอบคำถาม สื่อมวลชนถามทาง Meta ว่า แอคเคาท์ปลอมที่มันมากขึ้นทุกวัน ผุดขึ้นมาเหมือนดอกเห็ด ทาง Meta มีวิธีในการจัดการอย่างไร ?

คำตอบ : “เราต้องใช้ระบบ AI ในการป้องกันเป็นด่านแรก เนื่องจากว่า AI เป็นระบบอัตโนมัติที่สแกนได้ และ มีคนใช้เยอะ แต่หลังจากนั้นแล้วเราก็มี Human Reviewer เรียกง่ายๆว่า มนุษย์เป็นผู้ตรวจสอบเนื้อหา และจะเป็นผู้ที่เทรนด์ ระบบ AI นี้ด้วย เพราะว่าสแกมเมอร์มักจะเปลี่ยนวิธีไปเรื่อยๆ ตรงนี้ก็ต้องทำงานควบคู่กัน แน่นอนว่าระบบมันยังไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ 100% ได้ และอีกอย่างเราได้ทำงานร่วมกันหน่วยงานภาครัฐ หรือ ตำรวจ เราสามารถที่จะขยายผลและตรวจสอบเพิ่มเติมได้

วิธีการที่จะทำให้ แอคเคาท์ปลอมมันน้อยลง ตัวเราเองก็ต้องกดรีพอร์ท หรือ รายงานกัน บอกตรงๆว่า สแกมเมอร์มีมากตั้งแต่ก่อนยุคดิจิตอล แต่ความตั้งใจของ Meta ก็อยากจะทำให้ตัวเลขของแอคเคาท์ปลอมลดลงเรื่อยๆ”

สรุปแล้ว แอคเคาท์ปลอมที่ผุดขึ้นมาเรื่อยๆนั้น เราเองก็ต้องช่วย Meta นั้นรีพอร์ทด้วย เสมือนการช่วยกันทำให้โลกมันน่าอยู่ขึ้น และทำให้มันลดลง แม้เหล่ามิจฉาชาชีพจะสร้างขึ้นมาทุกวันก็ตาม