เอาด้วย! ราชบัณฑิตยสภา แถลงการณ์ จี้รัฐควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิด

ราชบัณฑิตยสภา ออกแถลงการณ์ จี้ภาครัฐ เร่งออกมาตรการควบคุม การใช้กัญชาในทางที่ผิด ป้องกันปัญหาระยะยาว

วันนี้ (25 ก.ค. 65) เพจเฟซบุ๊ก ราชบัณฑิตยสภา ออกแถลงการณ์ เพื่อขอให้ภาครัฐ เร่งออกมาตรการควบคุม การใช้กัญชาในทางที่ผิด โดยมีใจความว่า

แถลงการณ์จุดยืนของการใช้กัญชาและผลิตภัณฑ์

ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 วรรคสอง แห่ง ประมวลกฎหมายยาเสพติด ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. 2565 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565) ข้อ 1 (3) กำหนดให้ “สารสกัดจากทุกส่วนของกัญชาหรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ยกเว้นสารสกัดดังต่อไปนี้ (ก) สารสกัดที่มีสารเททระไฮโดรแคนนาบินอล (ทีเอชซี) [tetrahydrocannabinol, (THC)] ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ (ข) สารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญชาหรือกัญชงที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ” เป็นผลให้ทุกส่วนของพืชกัญชาไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 อีกต่อไป ทั้งนี้มีผลเมื่อครบกำหนด 120 วัน ตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตรงกับวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา

ราชบัณฑิตยสภา ในฐานะองค์กรปราชญ์ของแผ่นดิน “เป็นสถานที่บำรุงสรรพวิชา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาขึ้น มีวัตถุประสงค์ที่จะค้นคว้าและวิจัยเพื่อเผยแพร่ ส่งเสริม แลกเปลี่ยนความรู้ พัฒนา อนุรักษ์ และให้บริการทางวิชาการให้เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน” สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ได้เฝ้ามองและติดตามผลจากการออกประกาศดังกล่าวด้วยความห่วงใยต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ประกอบกับในช่วงสุญญากาศที่รัฐสภากำลังพิจารณาร่างกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ราชบัณฑิตยสภา จึงขอเสนอ

1.ให้รัฐมีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาเฉพาะในทางการแพทย์เท่านั้น และจัดให้มีมาตรการป้องปรามมิให้มีการนำไปใช้เพื่อนันทนาการโดยเด็ดขาด และขอให้รัฐออกมาตรการควบคุมการโฆษณาในสื่อต่าง ๆ ทุกรูปแบบ เพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่างหรือเป็นภาพชินตาของการใช้กัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาต่อเด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ในระยะยาว

2.การใช้กัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาในทางการแพทย์ ควรมีผลการวิจัยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และให้มีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนด้านประสิทธิศักย์ (efficacy) ความปลอดภัย (safety) และคุณภาพ (quality) อย่างแท้จริง ก่อนที่จะอนุญาตให้มีการใช้ในวงกว้าง นอกจากนั้น การผลิตวัตถุดิบกัญชาที่ใช้ทางการแพทย์ รัฐควรจัดให้มี “แนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับเกษตรกรรมและการเก็บเกี่ยว (จีเอซีพี) [Good Agricultural and Collection Practice (GACP)]” เพื่อประกันคุณภาพและความปลอดภัยของวัตถุดิบกัญชา

3. ให้รัฐจัดให้มีการติดตามและเฝ้าระวังเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์และผลข้างเคียงของกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาตามหลักวิชาการที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติอย่างเคร่งครัด และควบคุมการใช้ในทางที่ผิด เพื่อป้องกันปัญหาระยะยาวอันเกิดจากกัญชาที่มีต่อสุขภาพ สังคม และประเทศชาติในอนาคต

ราชบัณฑิตยสภา

25 กรกฎาคม 65

คลิปอีจันแนะนำ
ระทึกกลางกรุง! ตำรวจยิงสกัดรถหลังแหกด่านตรวจ