ส่อง! ปรากฏการณ์บนท้องฟ้า ส.ค. 66

มัดรวมปรากฏการณ์บนท้องฟ้า เดือนสิงหาคม 2566 ฝนดาวตก อาทิตย์ไร้เงา ดาวเสาร์ใกล้โลก และดวงจันทร์เต็มดวงที่ใหญ่ที่สุดในรอบปี

เธอๆ ไปดูดาวกับเราไหม? 

เดือนแห่งวันแม่ สิงหาคมนี้ มีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์เกิดขึ้นหลายอย่าง ทั้งฝนดาวตก อาทิตย์ไร้เงา ดาวเสาร์ใกล้โลก และดวงจันทร์เต็มดวงที่ใหญ่ที่สุด ให้เราได้เลือกชม เลือกชวนคนสำคัญไปนั่งดูกันฟินๆ เลยค่ะ 

วันที่ 5 ส.ค.66 ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า เดือนสิงหาคมปีนี้ มีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์เกิดขึ้น 4 ปรากฏการณ์ ดังนี้ 

1. ฝนดาวตกวันแม่ หรือฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ที่มีความสว่างเป็นอันดับ 2 รองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ โดยสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 23.00 น. ของวันที่ 12 ไปจนถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 ส.ค.66  มีอัตราการตกสูงสุดชั่วโมงละกว่า 100 ดวง มีศูนย์กลางการกระจายตัวอยู่บริเวณกลุ่มดาวเพอร์เซอิดส์ ซึ่งเราสามารถเห็นได้ชัดๆ ไม่มีแสงจันทร์รบกวน หากฟ้าใสไร้ฝน แนะนำให้นอนดูในพื้นที่มืดนะคะ

2. ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 เวลาประมาณ 12.22 น. ของวันที่ 16 ส.ค.66 ดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับพื้นโลก หากสังเกตวัตถุกลางแดดจะดูเสมือนไร้เงา เนื่องจากเงาจะตกอยู่ใต้วัตถุพอดี แต่อย่าพึ่งตกใจไปนะคะ ถึงดวงอาทิตย์จะตั้งฉากแต่อาจไม่ใช่วันที่ร้อนที่สุด เพราะจะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นร่วมด้วย 

 3. ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี โดยจะเกิดขึ้นในคืนวันที่ 27 ส.ค.66 ซึ่งดาวเสาร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 1,310 ล้านกิโลเมตร ในวันดังกล่าวเมื่อดวงอาทิตย์ตก จะเริ่มสังเกตเห็นดาวเสาร์ได้ทางทิศตะวันออก และสังเกตได้นานตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า สามารถชมได้ทุกภูมิภาคทั่วไทย  

4. ซูเปอร์บลูมูน (Super Blue Moon) เกิดขึ้นในคืนวันที่ 30 ไปจนถึงรุ่งเช้าวันที่ 31 ส.ค.66 โดยในวันนี้พิเศษสุดๆ เพราะได้ชมถึง 2 ปรากฏการณ์ของดวงจันทร์ ได้แก่ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ปีนี้มีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,334 กิโลเมตร 

และ บลูมูน (Blue Moon) หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน ปกติแล้วในหนึ่งเดือนจะเกิดดวงจันทร์เต็มดวงเพียงครั้งเดียวเท่านั้น มีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดขึ้นสองครั้ง ครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 31 ต.ค 63 

ทั้งนี้ ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เตรียมจัดสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในคืนวันที่ 27 ส.ค.66 และ “ซูเปอร์บลูมูน” ในคืนวันที่ 30 ส.ค.66 ตั้งแต่เวลา 18:00 – 22:00 น. ณ จุดสังเกตการณ์หลัก ทั้ง 4 แห่งของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา สงขลา และฉะเชิงเทรา  

ลูกเพจสะดวกวันใด หรือใกล้กิจกรรมที่ไหน ลองชวนคนสำคัญไปดูดาวกันนะคะ อย่าลืมเก็บภาพมาฝาก ‘อีจัน’ ด้วยล่ะ หากใครไม่สะดวกสามารถชวนคนสำคัญมาดูด้วยกันได้ที่บ้านผ่านการถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาตินะคะ 

ข้อมูลจาก: NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ