ไทยผนึกกำลังลาว เตรียมเปิดใช้รถไฟไทย – ลาว วิ่งฉิวสถานีบ้านคำสะหวาด

ไทยร่วมมือ สปป.ลาว เตรียมเปิดใช้สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) เชื่อมโยงระบบรางในภูมิภาค ดันขนส่ง-การท่องเที่ยว ของ 2 ประเทศ

รถไฟไทย – ลาว ต่อจากนี้เชื่อมถึงกันวิ่งฉิวข้ามประเทศ!!! 

เมื่อวันที่ 3-5 ส.ค. 66 ที่ผ่านมา อีจันได้ร่วมเป็นทีมสื่อไทยไปศึกษาดูงานและเยี่ยมชมโครงการสร้างสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคําสะหวาด) ที่ สปป.ลาว เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการดําเนินโครงการเชื่อมโยงด้านระบบรางในภูมิภาค และด้านการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศ 

สำหรับ สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) เป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ระยะที่ 2 ส่วนที่ 2 (รถไฟไทย-ลาว) เป็นการขยายระบบคมนาคมขนส่งทางรางของ  สปป.ลาว ต่อเนื่องจากระยะแรกของเส้นทาง หนองคาย – ท่านาแล้ง และเส้นทาง ท่านาแล้ง – เวียงจันทน์  

โดย นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผอ.สํานักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) หรือ NEDA สังกัดกระทรววงการคลัง เผยว่า โครงการสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) ซึ่งรัฐบาลไทย ผ่านทาง NEDA ได้ให้เงินกู้กับ สปป.ลาว พัฒนาโครงการนี้ เป็นเงิน 1,650 ล้านบาท เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2553 แบ่งเป็น 2 ระยะ ซึ่งตรงนี้เป็นระยะที่ 2 ในส่วนของระยะที่ 2 ก็แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือ งานก่อสร้างย่านกองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (Container Yard) เป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาทางรถไฟแห่งชาติลาว (National Railway Development Strategy) ที่ต้องการพัฒนาการขนส่งสินค้าในปริมาณมากทางราง เชื่อมโยงระหว่างประเทศไทย กับ สปป.ลาว งานก่อสร้างอาคารสํานักงานกรมรถไฟ และอาคารที่พักเจ้าหน้าที่ ทําให้กรมรถไฟมีความเป็นระบบระเบียบมากขึ้น รองรับการขยายตัวของสํานักงานกรมรถไฟ ส่วนที่ 2 เป็นสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา คาดว่าจะมีการเปิดใช้สถานีได้ช่วงปลายปี 2566 นี้ เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อรถไฟจากหนองคายของไทยเข้ามาถึงเวียงจันทน์ ระยะทางประมาณ 10 กม. ต่อจากท่านาแล้งมาอีก 7.5 กม.  

นายพีรเมศร์ ผอ. NEDA ยังบอกอีกว่า คนอาจจะถามว่า รถไฟนี้เชื่อมกับรถไฟลาว – จีน อย่างไร มันก็แยกกันเลยคนละสถานี รถไฟลาว – จีน เขาเรียกว่าสแตนดาร์ดเกจ 1.435 เมตร ส่วนรถไฟนี้เป็นการเชื่อมต่อรถไฟของไทย เป็นมิดเดิลเกจ สถานีรถไฟแห่งนี้อยู่ห่างจากสถานีรถไฟลาว – จีน ที่สถานีเวียงจันทน์ ประมาณ 7-8 กม. การเชื่อมต่อคงต้องใช้เป็นรถสาธารณะ รถบัสหรืออะไรต่างๆ คงต้องเป็นแผนที่ทางลาวต้องพัฒนากันต่อไปในอนาคต แต่ตนคิดว่าแม้จะอยู่คนละที่กันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทาง สปป.ลาว จะได้ประโยชน์มาก เพราะว่าการที่มีนักท่องเที่ยวโดยสารมาทางรถไฟ มาจบที่เมืองเวียงจันทน์ ถึงแม้จะต่อไปจีนในอนาคต แต่ก็จะมีการพักค้างคืน 1-2 วันที่เวียงจันทน์ ตรงนี้ทางลาวจะได้รายได้จากนักท่องเที่ยวผู้มาใช้บริการในเวียงจันทน์มากขึ้น แทนที่จะเป็นการวิ่งผ่านอย่างเดียว ถ้าเกิดวิ่งแล้วมาจอดแวะพักที่นี่ ก็จะเกิดประโยชน์กับทั้ง 2 ประเทศ ทั้งคนไทยและคนลาวเช่นเดียวกัน 

ในเบื้องต้นของการแก้ปัญาของ สปป.ลาว ที่เกี่ยวกับข้อสัญญาระหว่างประเทศ ผอ. NEDA กล่าวว่า รถไฟสำหรับลาวเป็นเรื่องใหม่มาก เพราะว่าเขาไม่เคยมีรถไฟเองเลย เพิ่งมีรถไฟลาว – จีน และก็เพิ่งมีตรงนี้ที่เป็นสถานีใหญ่อันแรก ที่สร้างโดยเงินกู้ของไทย ปัญหาคือปัจจุบันรถไฟจากไทยที่ใช้มาถึงที่สถานีบ้านคำสะหวาด เป็นรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งสัญญาการเดินรถ ก็จะเดินรถได้ถึงแค่สถานีท่านาแล้ง แต่การที่จะใช้คนไทยขับเข้ามาถึงสถานีบ้านคำสะหวาดนี้ยังทำไม่ได้ ต้องมีการแก้ข้อตกลงตรงนี้ ปัจจุบันมีการปรับวิธีการโดยให้พนักงานขับรถของวิสาหกิจรถไฟลาว จากสถานีท่านาแล้งเข้ามาสู่สถานีบ้านคำสะหวาด ซึ่งตรงนี้ต้องมีการฝึกอบรมคนขับรถไฟของ สปป.ลาว อีก คาดว่าใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 1-2 เดือน โดยให้ทางลาวส่งคนที่จะขับรถไฟไทย ไปเรียนที่ประเทศไทย โดยเราก็จะมีการประสานงานกับการรถไฟไทยอยู่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งคิดว่าเมื่ออบรมแล้วเสร็จ เราจะสามารถเดินรถเข้ามาสู่สถานีรถไฟบ้านคำสะหวาดนี้ได้ภายในสิ้นปีนี้ ด้วยการให้คนขับรถไฟเป็นคนลาว มีคนไทยนั่งควบคุมมาด้วย ตามระเบียบของสัญญาระหว่างประเทศ ที่ระบุว่าคนขับรถไฟในประเทศลาว ต้องเป็นคนลาวเท่านั้น จะเป็นคนต่างชาติขับเข้ามาในประเทศไม่ได้ ซึ่งก็จะเป็นการเชื่อมโยงรถไฟให้มาถึงเวียงจันทน์ บ้านคำสะหวาดนี้ได้อย่างสะดวก ครบสมบูรณ์ 

สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคําสะหวาด) สปป.ลาว สนับสนุนนโยบายการเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศในอนุภูมิภาค (Connectivity) โดยพัฒนาการคมนาคมขนส่งระบบรางเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว (สายกรุงเทพมหานคร – นครเวียงจันทน์) ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย และ สปป.ลาว นอกจากนี้ การก่อสร้างทางรถไฟสามารถเชื่อมไปยังประเทศที่สาม ได้แก่ จีนและเวียดนาม ซึ่งจะทําให้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลในการค้าขายกับประเทศที่สามไปด้วย สามารถลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้า เกิดการลงทุนต่อเนื่อง และสร้างโอกาสให้ภาคเอกชนไทยไปประกอบธุรกิจใน สปป.ลาว เช่น การรับสัมปทานบริหารจัดการ CY และบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีเวียงจันทน์ พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการจ้างงานและใช้สินค้าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างจากไทยมากยิ่งขึ้น เกิดประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยและชาวลาว รวมไปยังประชาชนที่อยู่แถบภูมิภาคนี้ นอกจากจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางการเงินในประเทศแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะในเวลานี้นครหลวงเวียงจันทน์ กลายเป็นเป้าหมายหลักของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ คึกคักไปด้วยผู้คนจํานวนมาก เวียงจันทน์ได้กลายเป็นจุดเชื่อมต่อสําคัญในการขนส่ง ทั้งการขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศ และการขนส่งสินค้าทางรางด้วยระบบคมนาคมเชื่อมไทย-อาเซียน-จีน รวมถึงโครงการดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงการเดินทางไปยังประเทศจีนผ่านทางรถไฟความเร็วสูงสายเวียงจันทน์ (สปป.ลาว) – บ่อเต็น (จีน) เพื่อรองรับผู้โดยสารเป็นหลัก หรือเพื่อการขนส่งสินค้าระหว่างเมืองและระหว่างประเทศ นับเป็นประโยชน์สําหรับประชาชนและการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีระยะเวลาสั้น เพิ่มทางเลือกในการเดินทางการขนส่ง ประหยัดเวลาและค่าโดยสาร เกิดการกระจายรายได้สู่ประชาชนในระดับรากหญ้า 

ซึ่งโครงการนี้ เป็นการสนับสนุนการเชื่อมโยงด้านระบบรางในภูมิภาค และส่งเสริมให้การขนส่งมีความสะดวกมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในเขตพื้นที่โครงการ โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวดีของคนไทยและประเทศไทย ในการเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ สร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจและการคมนาคม เพื่อก้าวสู่ความเจริญต่อไป 

สุดท้าย ผอ. NEDA กล่าวว่า

ตนมองว่าจุดนี้จะเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญในอนาคต ต้องใช้เวลาและโอกาส อยากให้ทุกคนมีข้อมูลเรื่องโครงการนี้ไว้ เป็นอีกช่องทางหนึ่ง นอกจากจะท่องเที่ยวผ่านทางรถยนต์แล้ว มาทางรถไฟก็ได้ในอนาคต สะดวกสบาย เป็นการสนับสนุนการรถไฟด้วย เมื่อก่อนถ้าเรามาจากไทยจะเข้าเวียงจันทน์ เราจะทำการผ่านแดนที่สถานีท่านาแล้ง ต่อไปเขาจะย้ายเรื่องการขนส่งคนมาทำการผ่านแดนที่สถานีนี้เลย แปลว่าต่อไปถ้าเรามาทางรถ เราจะก็ทำการผ่านแดนที่สะพานมิตรภาพ แต่ถ้ามาทางรถไฟ ถ้าข้ามจากหนองคายมาก็จะมาทำการผ่านแดนที่สถานีบ้านคำสะหวาดเลย เพราะจะเป็นสถานีแรกที่จะหยุด การขนส่งคนต่อไปนี้จะไม่หยุดที่ท่านาแล้งแล้ว จะมีเฉพาะการขนส่งสินค้าอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวจะมาหยุดที่นี่