เปิดฟังความเห็น กม.คุมแอลกอฮอล์ใหม่ จำกัดเวลาดริ๊งก์ 1-18 มิ.ย.66

เพจประชาชนเบียร์ ชวนโหวต ‘ไม่เห็นด้วย’ กม.คุมแอลกอฮอล์ใหม่ จำกัดเวลาดริ๊งก์ เปิดฟังความเห็น 1-18 มิ.ย.66

หลังจากกระแส นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 พูดถึงประเด็น ‘สุราก้าวหน้า’ ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3 เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.66 ที่ผ่านมา จนทำให้สุราพื้นบ้านในหลายจังหวัดขาดตลาด อย่างสุราท้องถิ่น ‘แบรนด์สังเวียน’ ถูกขายหมดเกลี้ยงทั้งโรงงานในเวลารวดเร็ว เช่นเดียวกับอีกหลายแบรนด์ ที่ทยอยขายหมดเช่นกัน

ซึ่งจากปรากฎการณ์ครั้งนี้ ทำให้หลายคนได้ทำความรู้จัก ‘สุราท้องถิ่น’ ตามแต่ละภูมิภาคมากขึ้น จากเดิมที่ผ่านมา ติดข้อกำจัดของกฎหมาย เรื่องการห้ามโฆษณา เผยแพร่แอลกอฮอล์ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551  ทำให้ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย 

โดยหนึ่งในมาตราที่มีการถกเถียงกันมากที่สุด ประเด็นหนึ่งของ พ.ร.บ. คือมาตรา 32 ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ใจความว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม

แต่เมื่อเร็วๆ นี้ พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เนื่องจากจะมีการแก้ไข โดยอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น ผ่านระบบกลางทางกฎหมาย และเว็บไซต์กรมควบคุมโรค ระหว่างวันที่ 1-18 มิ.ย.66 เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้คือ 1.กำหนดเวลาห้ามการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่ หรือบริเวณที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้าในเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ร่างมาตรา 22 เพิ่มมาตรา 31/1)

2.กำหนดให้ผู้ประกอบการ เจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของสถานที่ หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่ หรือบริเวณสถานที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ หรือแจ้งเตือนการห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด รวมถึงมีหน้าที่ควบคุม ดูแล ห้ามปราม หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อไม่ให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาดังกล่าว (ร่างมาตรา 22 เพิ่มมาตรา 31/2)

3.กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่ หรือบริเวณสถานที่ที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า เพื่อตรวจสอบหรือควบคุมเท่าที่จำเป็น (ร่างมาตรา 27 เพิ่มมาตรา 34 (2))

4.กำหนดบทกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 31/1 และมาตรา 31/2 (ร่างมาตรา 29 เพิ่มมาตรา 39/1 และมาตรา 39/2)

และ 5.กำหนดบทกำหนดโทษสำหรับผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 34/6 (ร่างมาตรา 33 เพิ่มมาตรา 44/1)

โดย พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะเพิ่มเติมจากข้อห้ามเกี่ยวกับการขาย และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เดิม เช่น ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคล ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ขณะเดียวกัน ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษาและวันออกพรรษา ยกเว้นการขายเฉพาะร้านค้าปลอดอากรภายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ และห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาอื่น นอกจากตั้งแต่เวลา 11.00-14.00 น. และตั้งแต่เวลา 17.00 น.ถึงเวลา 24.00 น.

ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า ข้อกฎหมายที่ตึงเกินไป จะช่วยแก้ไขปัญหาอย่างการเมาแล้วขับ รวมถึงแก้ปัญหานักดื่มหน้าใหม่ที่ทยอยเก้าเข้าวงการได้หรือไม่ ซ้ำร้ายนอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว อาจสนับสนุนให้เกิดการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่บางคน ให้มีสติ๊กเกอร์ส่วยตามสถานบันเทิงเพิ่มขึ้นได้ 

ด้าน ‘เพจประชาชนเบียร์’ ได้โพสต์ เชิญชวนให้ประชาชนไปร่วมแสดงความเห็น ว่า ไม่เห็นด้วย กับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยระบุว่า 

ไหนๆ กระแสสุราก็มาแรงขนาดนี้ ขอฝากประชาชนเบียร์ทุกท่านเข้าไปแสดงความเห็น ไม่เห็นด้วย กับ ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกรมควบคุมโรค คุมกำเนิดรายย่อยหนักกว่าเดิม ลามไปยันผู้บริโภคด้วย เชิญกันไปร่วมแสดงความเห็น 1-18 มิถุนายนนี้

ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย

https://law.go.th/listeningDetail?survey_id=MTg4N0RHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ=

หรือเว็บไซต์กรมควบคุมโรค

http://alcoholact.ddc.moph.go.th/act/