ชีวประวัติบิดาแห่งพระกัมมัฏฐาน พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระมหาเถระผู้บริบูรณ์ด้วยศีล และเจริญพร้อมด้วยปัญญา พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน

เรียนรู้ความสงบพบความสุขทางใจจากการฝึกปฏิบัติ ตามรอยพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระมหาเถระผู้บริบูรณ์ด้วยศีลและเจริญพร้อมด้วยปัญญา พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน

นี่เป็นข้อมูลชีวประวัติของ “หลวงปู่มั่น” จาก “หนังสือ มหาเถรบูชา 150 ปี ชาตกาล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” ที่ อีจัน นำมาเรียบเรียงให้ศิษยานุศิษย์ได้อ่านกัน

ชาติสกุล

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต กำเนิดในสกุล แก่นแก้ว นายคำด้วง เป็นบิดา นางจันทร์ เป็นมารดา สัญชาติไทย นับถือพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2413 ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 9 คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปี บุตร 6 คนตายเสียแต่เด็ก ยังเหลือน้องสาว 2 คน คนสุดท้องชื่อ หวัน จำปาศิลปะ

รูปร่างลักษณะและนิสัย

ท่านเป็นคนรูปร่างเล็ก ผิวขาวแดง แข็งแรง ว่องไว สติปัญญาดีมาแต่กำเนิด ฉลาด เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายในทางที่ถูก ไม่ยอมทำตามในทางที่ผิด

การศึกษาสามัญ

ท่านได้เรียนอักษรสมัยในสำนักของอา คือ เรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรม และอักษรขอม อ่านออกเขียนได้ นัยว่าท่านเรียนได้รวดเร็ว เพราะมีความทรงจำดีมีความขยันหมั่นเพียร ชอบการเล่าเรียนศึกษา

ขณะที่ท่านเป็นฆราวาสได้กราบนมัสการท่านพระอาจารย์เสาร์ กนุตสีลเถร ครั้งแรก พร้อมทั้งมอบตัวเป็นศิษย์กับท่าน ที่กุดเม็ก โดยอยู่ห่างจากบ้านคำบง ซึ่งเป็นบ้านเกิดท่านพระอาจารย์มั่น 2 กิโลเมตร

ท่านพระอาจารย์เสาร์ได้ขอท่านพระอาจารย์มั่นจากโยมพ่อโยมแม่ของท่านไปบวช โดยผู้เล่าประวัติเล่าว่า “ท่านพระอาจารย์มั่นเทียวเข้าเทียวออกเป็นประจำที่กุดเม็ก บางคืนก็ไม่กลับเข้าไปนอนที่บ้าน อยู่ฝึกสมาธิและเพื่ออุปัฎฐากท่านพระอาจารย์เสาร์ คือ ล้างบาตร เช็ดบาตร ต้มน้ำร้อนน้ำอุ่น รับประเคนสิ่งของถวายท่านพระอาจารย์เป็นประจำ” ท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ฝึกหัดกัมมัฎฐานกับท่านพระอาจารย์เสาร์ และได้ชวนท่านพระอาจารย์มั่นไปบวชด้วย โดยกล่าวว่า “โตไปบวชกับเฮาเน้อ”

หลังจากที่ท่านพระอาจารย์มั่นอุปสมบทที่เมืองอุบลแล้ว ท่านได้ติดตามท่านพระอาจารย์เสาร์ไปธุดงค์ที่ฝั่งลาว ต่อมาท่านทั้งสองได้กลับมาเยี่ยมบ้านคำบงอีกครั้ง พร้อมทั้งปรารภสร้างพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ 2 องค์ที่กุดเม็ก โดยทำเตาหลอมและเททองหล่อพระด้วยองค์ท่านเอง ต่อมาชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไว้ที่ศาลาสำนักสงฆ์กุดเม็กเพื่อน้อมรำลึกถึงพระบูรพาจารย์ทั้งสอง

การบรรพชา

เมื่ออายุ 15 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักวัดบ้านคำบง ใครเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นเมื่อบวชแล้วได้ศึกษาความรู้ทางพระศาสนา มีสวดมนต์และสูตรต่าง ๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปรานีมาก เพราะเอาใจใส่ในการเล่าเรียน ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจ เมื่ออายุท่านได้ 17 ปี บิดาขอให้ลาสิขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน ท่านก็ได้ลาสิขาออกไปช่วยการงานของบิดามารดาเต็มความสามารถ

ท่านเล่าว่า เมื่อลาสิขาไปแล้วยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่ลืมเลย คงเป็นเพราะอุปนิสัยในทางบวชมาแต่ก่อน อีกอย่างหนึ่งเพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า “เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก” คำสั่งของยายนี้คอยสะกิดใจอยู่เสมอ

การอุปสมบท

ครั้นเมื่อท่านอายุได้ 22 ปี ท่านเล่าว่า มีความอยากบวชเป็นกำลัง จึงอำลาบิดามารดาบวช ท่านทั้งสองก็อนุญาตตามประสงค์ ท่านได้ศึกษาในสำนักท่านพระอาจารย์เสาร์ กนุตสีลเถร วัดเลียบ เมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับอุปสมบทกรรมเป็นภิกษุภาวะในพระพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2436 พระอุปัชฌายะขนานนามให้ว่า ภูริทตฺโต เมื่ออุปสมบทกรรมแล้ว ได้กลับมาสำนักศึกษาวิปัสสนาธุระกับ ท่านอาจารย์เสาร์ กนุตสีลเถรณ วัดเลียบ

บำเพ็ญประโยชน์

การบำเพ็ญประโยชน์ของพระอาจารย์มั่น มีหลัก 2 ประการ คือ

1.ประโยชน์เพื่อชาติ ท่านได้เทศนาอบรมสั่งสอนศีลธรรมอันดีงามแก่ประชาชนพลเมืองของชาติในทุก ๆ ถิ่นที่ท่านได้สัญจรไป คือ ภาคกลางบางส่วน ภาคเหนือเกือบทุกจังหวัด ภาคอีสานเกือบทั่วทุกจังหวัด และบางส่วนของต่างประเทศ เช่น ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงของประเทศลาว ไม่กล่าวสอนให้เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองประเทศ ทำให้พลเมืองของชาติผู้ได้รับการสั่งสอน เป็นคนดีมีศีลธรรมดี มีสัมมาอาชีพ ง่ายแก่การปกครองของผู้ปกครอง

2.ประโยชน์ศาสนา ท่านพระอาจารย์มั่นได้บรรพชาและอุปสมบทเข้ามาในพระศาสนาด้วยความเชื่อและความเลื่อมใสจริง ๆ ครั้นบวชแล้วก็ได้ดำรงรักษาสมณกิจไว้มิให้เสื่อมสูญ

งานศาสนาในด้านวิปัสสนาธุระ นับว่าท่านได้ทำเต็มสติกำลัง ยังศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ให้อาจหาญ รื่นเริงในสัมมาปฏิบัติตลอดมา นับแต่พรรษาที่ 23 จนถึงพรรษาที่ 59 อันเป็นปีสุดท้ายแห่งชีวิตของท่าน อาจกล่าวได้ด้วยความภูมิใจว่าท่านพระอาจารย์มั่นเป้นพระเถระที่มีเกียรติคุณเด่นที่สุดในด้านวิปัสสนาธุระรูปหนึ่งในยุคปัจจุบัน

ปัจฉิมสมัย

ในวัยชรานับตั้งแต่ พ.ศ.2484 เป็นต้นมา ท่านมาอยู่จังหวัดสกลนคร เปลี่ยนอิริยาบถไปตามสถานที่วิเวกผาสุกวิหารหลายแห่ง ทั้งเสนาสนะป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมืองบ้าง ที่ใกล้ ๆ แถวนั้นบ้าง ครั้น พ.ศ.2487 จึงย้ายไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร จนถึงปีสิ้นสุดแห่งชีวิต

ตลอดเวลา 8 ปีในวัยชรา ท่านได้เอาธุระอบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ ทางสมถวิปัสสนาเป็นอันมาก ได้มีการเทศนาอบรมจิตใจศิษยานุศิษย์เป็นประจำวัน ศิษย์ผู้ใกล้ชิดได้บันทึกธรรมเทศนาของท่านไว้และได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นเผยแพร่ ให้ชื่อว่า “มุตโตทัย”

ปี พ.ศ.2492 พระจารย์มั่นอายุย่างขึ้น 80 ปี ท่านเริ่มอาพาธ เป็นไข้ และเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 ศิษย์ได้นำท่านมาพักที่วัดป่าสุทธาวาส ใกล้เมืองสกลนคร มาถึงวัดเมื่อเวลา 12.00 น.เศษ ครั้นถึงเวลา 2.23 น. ของวันที่ 11 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ท่านก็ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ท่ามกลางศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย

เวลาผ่านล่วงเลยมา 73 ปี คำสอนของพระอาจารย์มั่นยังคงเป็นที่ยึดถือปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนไม่เสื่อมคลาย เป็นมรดกธรรมคำสอน “หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต” อันเป็น แก่น และ หัวใจ นำพาความสุขสงบใจมาสู่ผู้ปฏิบัติ

1.ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จะแยกกันไม่ได้ หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ต้องอาศัยกันอยู่ฉันใดก็ดี ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ก็อาศัยกันอย่างนั้น สัทธรรมสามอย่างนี้ จะแยกกันไม่ได้เลย

2.จงพากันมีสติคอยระวังตัว อย่าให้เป็นคนประเภทใบลานเหล่า ๆ เรียนเปล่าและตายทิ้งเปล่า ไม่มีธรรมอันเป็นสมบัติของตัวอย่างแท้จริงติดตัวบ้างเลย

3.จุดที่เยี่ยมยอดของโลก คือ ใจ การบำรุงรักษาสิ่งใดๆ ในโลก การบำรุงรักษาตน คือ ใจเป็นเยี่ยมจุดที่เยี่ยมยอดของโลก คือ “ใจ” ควรบำรุงรักษาด้วยดี

4.ได้ใจแล้ว คือได้ธรรม เห็นใจแล้ว คือ เห็นธรรม รู้ใจตนแล้ว คือ รู้ธรรมทั้งมวล ถึงใจตนแล้ว คือ ถึงพระนิพพาน

5.ใจนี่แล คือ สมบัติอันล้ำค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป คนพลาดใจ คือ ไม่สนใจปฏิบัติต่อใจดวงวิเศษในร่างนี้ แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติ ก็คือ ผู้เกิดผิดพลาดนั่นเอง

6.หากคนดีมีศีลธรรมในใจ หายากยิ่งกว่าเพชรนิลจินดา ได้คนเป็นคนดีเพียงคนเดียว ย่อมมีคุณมากกว่าเงินเป็นล้าน ๆ เพราะเงินเป็นล้าน ๆ ไม่สามารถทำความร่มเย็นให้แก่โลกได้อย่างถึงใจ เหมือนได้คนดีทำประโยชน์

7.ทาน ศีล ภาวนา เป็นรากเหง้าของความเป็นมนุษย์ และเป็นรากเหง้าของพระศาสนาที่มนุษย์ต้องคอยสั่งสมให้มาอยู่ในนิสัย

8.ทานเป็นเครื่องแสดงน้ำใจ เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ ศีลเป็นเครื่องปัดเป่าความคิดของผู้มีกิเลส ภาวนาอบรมใจให้ฉลาดเที่ยงตรงต่อเหตุผลและความถูกต้อง

9.ผู้เป็นหัวหน้าหรือมีภารกิจมาก ควรหันมาฝึกใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะการภาวนาช่วยแก้ความยุ่งยากลำบากใจทุกประเภทที่เป็นภาระหนัก หากปล่อยใจโดยไม่มีธรรมเป็นเครื่องยับยั้ง คงไม่ได้รับความสุข แม้จะมีสมบัติก่ายกอง

10.วาสนานั้นเป็นไปตามอัธยาศัย คนที่มีวาสนาในทางที่ดีมาแล้ว แต่คบคนพาล วาสนาก็อาจเป็นเหมือนคนพาลได้ บางคนวาสนายังอ่อน เมื่อคบผู้มีปัญญาและประพฤติดี วาสนาก็เลื่อนขั้นเป็นบัณฑิต ฉะนั้น บุคคลควรพยายามคบแต่บัณฑิต เพื่อเลื่อนภูมิวาสนาของตนให้สูงขึ้น

11.อดีตควรปล่อยไว้ตามอดีต อนาคตควรปล่อยไว้ตามกาลของมัน ปัจจุบันเท่านั้นจะสำเร็จประโยชน์ได้ เพราะอยู่ในฐานะที่ควรทำได้ไม่สุดวิสัย

12.เกิดมาแล้ว ก็แก่ เจ็บ ตาย แต่ก่อนจะตาย ทานยังไม่มี ก็ให้มีเสีย ศีลยังไม่เคยรักษา ก็รักษาเสีย ภาวนายังไม่เคยเจริญ ก็เจริญให้พอเสียจะได้ไม่เสียที ที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาด้วยความไม่ประมาท นั้นละจึงจะสมกับที่ได้เกิดมาเป็นคน

13.ผู้มีปัญญาไม่ควรให้สิ่งที่ล่วงแล้วตามมา ไม่ควรหวังในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ผู้มีปัญญาได้เห็นธรรมซึ่งเป็นปัจจุบัน ควรเจริญความเห็นนั้นไว้เนือง ๆ ควรรีบทำเสีย ผู้มีปัญญาซึ่งมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ มีความเพียรแยกกิเลสให้หมดไป จะไม่เกียจคร้าน ขยันหมั่นเพียรทั้งกลางวันและกลางคืน

14.จะเอาอะไรมาเพิ่มอีก ก็ถ้าหากตายไปในวันนี้วันพรุ่งนี้ สิ่งต่าง ๆ ที่เคยมีและผ่านเข้ามา ตะเกียกตะกายดิ้นรนไขว่คว้าทุกอย่างก็จะเป็นเพียงแค่ สิ่งที่ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ของเรา

15.ไม่ควร “ยกโทษ ผู้อื่น” หรือ “เพ่งโทษผู้อื่น” ถึงแม้นผู้นั้น จะไม่ดีก็ตามที เพราะการเพ่งโทษผู้อื่น จะนำความวิบัติสู่ตนโดยไม่รู้ตัว ความเผลอสติ มักพาให้ผู้คนนั้น “ยกโทษผู้อื่น และพยายามยกคุณตนเอง” แทนที่จะ “ยกคุณผู้อื่น ยกโทษตนพิจารณา”

16.เราต้องการของดี คนดีจำต้องฝึก ฝึกจนดี จะพ้นฝึกไปไม่ได้ งานอะไรก็ต้องฝึกทั้งนั้น ฝึกงาน ฝึกตน ฝึกใจ นอกจากตายแล้วจึงหมดการฝึก คำว่า ดี จะเป็นสมบัติของผู้ฝึกดีแล้วแน่นอน

17.คนมีทานย่อมเป็นผู้สง่าผ่าเผย และเด่นในปวงชน เป็นที่เคารพรักในหมู่ชน จะตกอยู่ทิศใดย่อมไม่อดอยาก ขาดแคลนจะมีสิ่งหรือผู้อุปถัมภ์จนได้ ไม่อับจนทนทุกข์ ผู้มีทานประดับตน ย่อมไม่เป็นคนล้าสมัย บุคคลทุกชั้นไม่รังเกียจ

18.บุคคลใดปฏิบัติแล้ว บุคคลนั้นย่อมพิจารณาความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย ย่อมเห็นความเกิด แก่ เจ็บ และตายในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมไม่เห็นความสุข ความยินดีน้อยหนึ่งในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ไม่เห็นซึ่งอะไร ๆ ในเบื้องต้น ท่ามกลางหรือที่สุดในสังขารทั้งหลายเหล่านั้นซึ่งจะเข้าถึงความเป็นของไม่ควรถือเอา

19.อย่าลดละท้อถอยความเพียร ธรรมเป็นสมบัติกลางและเป็นสมบัติของทุกคนที่ใคร่ต่อธรรม พระพุทธเจ้ามิได้ผูกขาดไว้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ ต่างมีสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของได้ด้วยการปฏิบัติดีของตนด้วยกัน

20.ความเดือดร้อนวุ่นวายใจที่คิดแต่ตำหนิผู้อื่นจนอยู่ไม่เป็นสุขนั้น นักปราชญ์ถือเป็นความผิดและบาปกรรมไม่มีดีเลย จะเป็นโทษให้ท่านได้สิ่งไม่พึงปรารถนามาทรมานอย่างไม่คาดฝัน

21.ใครเพียร ใครอาจหาญ ใครอดทน ในการต่อสู้กับกิเลสตัวฝืนธรรมอยู่ตลอดเวลา ผู้นั้นจะเจอร่มเงาแห่งความสงบเย็นใจในโลกนี้ ในบัดนี้ และในดวงใจนี้ ไม่เนิ่นนานเหมือนการท่องเที่ยวที่เจือไปด้วยสุขด้วยทุกข์อยู่ทุกภพ ทุกชาติ ไม่มีวันจบสิ้น

22.ฝึกตนดีแล้ว จึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่าทำตามพระพุทธเจ้า ถ้าบุคคลไม่ทรมานตนให้ดีก่อนแล้ว และทำการจำแนกธรรมสั่งสอนไซร้ ก็จักเป็นผู้มีโทษปรากฏว่า ปาปโก สทฺโท โหติ คือ เป็นผู้มีชื่อเสียงชั่วฟุ้งไปในจตุรทิศ

23.ผู้มีสมบัติพอประมาณในทางที่ชอบ มีความสุขมากกว่าผู้ได้มาในทางมิชอบเสียอีก เพราะนั่นไม่ใช่สมบัติของตนอย่างแท้จริงทั้ง ๆ ที่อยู่ในกรรมสิทธิ์

24.อย่าไปสนใจคิดถึงกาลสถานที่ หรือบุคคลใด ๆ ว่าเป็นภัยและเป็นคุณ ให้เสียเวลาและล่าช้าไปเปล่า โดยไม่เกิดประโยชน์อะไร ยิ่งกว่าการคิดเรื่องกิเลสกับธรรม ซึ่งมีอยู่ที่ใจ

25.การงานทุกชนิดที่ทำด้วยใจ ของผู้มีภาวนาจะสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย ทำด้วยความใคร่ครวญเล็งถึงประโยชน์ที่จะได้รับ เป็นผู้มีหลักมีเหตุผล ถือหลักความถูกต้องเป็นเข็มทิศทางเดินของกาย วาจา ใจ ไม่ปิดซ่อนให้ความอยากอันไม่มีขอบเขตเข้ามาเกี่ยวข้อง

26.ความทุกข์ ทรมาน ความอดทน ทนทาน ต่อสิ่งกระทบกระทั่งต่าง ๆ ไม่มีอะไรจะแข็งแกร่งเท่าใจ ถ้าได้รับความช่วยเหลือที่ถูกทาง ใจจะกลายเป็นของประเสริฐ ให้เจ้าของได้ชมอย่างภูมิใจต่อเรื่องทั้งหลายทันที

27.ศาสนาทางมิจฉาทิฏฐิ ก็นับวันจะแสดงปาฏิหาริย์ คนที่โง่เขลาก็จะถูกจูงไปอย่างโคและกระบือ ผู้ที่ฉลาดก็เหลือน้อย ฉะนั้น พวกเธอทั้งหลายจงรีบเร่งปฏิบัติธรรม ให้สมควรแก่ธรรม พระธรรมเหล่านี้ไม่ล่วงไปไหน มีอยู่ ทรงอยู่ในปัจจุบัน จิตในปัจจุบัน ที่เธอทั้งหลายตั้งอยู่หน้าสติ หน้าปัญญา อยู่ด้วยกัน กลมกลืนในขณะเดียวนั้นแล

28.ผู้เห็นคุณค่าของตัว จึงเห็นคุณค่าของผู้อื่นรู้สึกเช่นเดียวกัน ไม่เบียดเบียนทำลายกัน ผู้มีศีลสัตย์เมื่อทำลายขันธ์ไปในสุคติในโลกสวรรค์ ไม่ตกต่ำเพราะอำนาจศีลคุ้มครองรักษาและสนับสนุน จึงควรอย่างยิ่งที่จะพากันรักษาให้บริบูรณ์ ธรรมก็สั่งสอนแล้วจดจำให้ดี ปฏิบัติให้มั่นคง จะเป็นผู้ทรงคุณสมบัติทุกอย่างแน่นอน

29.จิตที่ได้รับการอบรมที่ถูกต้องแล้วปัญญาย่อมเกิดขึ้น จะมองดูอะไรก็เป็นนิยยานิกธรรมทั้งสิ้น ส่วนผู้ที่ได้รับการอบรมจิตที่ไม่ถูกต้อง ปัญญาแท้จริงก็ไม่เกิด แม้ผู้นั้นกำลังจับพระไตรปิฎกอ่านอยู่ก็ไม่เป็นผล ยิ่งทำให้เกิดความลังเลสงสัยตลอดไป ส่วนผู้มีปัญญาอบรมมาด้วยจิตที่ถูกต้อง แม้จะไม่ต้องจับพระไตรปิฎก แต่ก็น้อมเอาสิ่งต่าง ๆ มาเป็นธรรม เป็นยอดพระไตรปิฎกได้

30.กิเลสแท้ ธรรมแท้อยู่ที่ใจ ส่วนเครื่องส่งเสริมและกดถ่วงกิเลสและธรรมนั้นมีอยู่ทั่วไปทั้งภายในภายนอก ฉะนั้น ท่านจึงสอนให้หลบหลีกปลีกตัวจากสิ่งยั่วยวนกวนใจ อันจะทำให้กิเลสที่มีอยู่ภายในกำเริบลำพอง มีรูป เสียง เป็นต้น และสอนให้เที่ยวอยู่ในที่วิเวกสงัด เพื่อกำจัดกิเลสชนิดต่าง ๆ ด้วยความเพียรได้ง่ายขึ้น อันเป็นการย่นวัฏฏะภายในใจให้สั้นลง

คลิปอีจันแนะนำ
เหล็กไม่ไหล เรียกเหล็กไหลได้ไหม ?