วันสัตวแพทย์ไทย 4 ส.ค. ของทุกปี

4 สิงหาคม ของทุกปี วันสัตวแพทย์ไทย เพื่อสะท้อนให้เห็นความสำคัญ และคุณค่าของสัตวแพทย์ในประเทศไทย

คนเจ็บป่วยยังมีคนรักษา สัตว์เจ็บป่วยจึงต้องมีคนคอยรักษาเช่นกัน ยิ่งในปัจจุบันเราหันมาใส่สัตว์ต่างๆ มากขึ้น อย่าง หมา แมว กระต่าย หนู งู นก บางคนรักเหมือนลูกหลาน เหมือนคนในครอบครัว เพราะฉะนั้นจึงต้องมีสัตวแพทย์คอยรักษาสัตว์เลี้ยงเวลาป่วยเช่นกัน 

4 ส.ค. ของทุกปี เป็นวันสัตวแพทย์ไทย ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อสะท้อนให้เห็นความสำคัญและตระหนักถึงคุณค่าของสัตวแพทย์ในประเทศไทย โดยมีสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรหลัก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่บทบาทของสัตวแพทย์ต่อสาธารณชน 

โดยสัตวแพทย์เป็นแพทย์ที่คอยดูแลสุขภาพสัตว์ วินิจฉัย รักษา ป้องกันโรค และคิดค้นยาและพัฒนาวิธีการรักษาโรคสัตว์หลายชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยง ปศุสัตว์ และสัตว์ประเภทอื่นๆ โดยใช้การสอบถามประวัติสัตว์ป่วยจากเจ้าของ อาการที่สัตว์แสดงออกมา ประกอบกับผลทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางสัตวแพทย์เพื่อทำการวิเคราะห์ปัญหาด้านสุขภาพให้แก่สัตว์ เพื่อให้พวกเขามีชีวิตรอดและมีสุขภาพที่แข็งแรง 

ซึ่งการศึกษาวิชาชีพสัตวแพทย์ในประเทศไทยนั้น เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2455 มีต้นกำเนิดจาก พล.ต. ม.จ.ทองฑีฆายุ ทองใหญ่ ผู้ถือเป็นบิดาแห่งการศึกษาสัตวแพทย์ไทย ทรงตั้งโรงเรียนอัศวแพทย์ทหารบกขึ้น ก่อนจะพัฒนาเป็นโรงเรียนนายสิบสัตวแพทย์ และต่อมากลายเป็นโรงเรียนนายดาบสัตวแพทย์ ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นการศึกษาวิชาสัตวแพทย์เป็นครั้งแรกของประเทศไทย 

หลังจากนั้น ในปี 2478 ได้พัฒนาและจัดตั้งแผนกอิสระสัตวแพทย์ขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นจุดเริ่มต้นการศึกษาวิชาสัตวแพทยศาสตร์ในสถานศึกษาพลเรือนเพื่อผลิตสัตวแพทย์ในระดับปริญญาเป็นครั้งแรก และพัฒนาเป็นคณะสัตวแพทย์ โดยมี ศาสตราจารย์พันโท หลวงชัยอัศวรักษ์ เป็นคณบดี