23 พฤษภาคม วันเต่าโลก World Turtle Day

ใส่ใจเพื่อนอายุร้อยปีของเรา ร่วมอนุรักษ์เต่า ในวันเต่าโลก 23 พฤษภาคม วันเต่าโลก World Turtle Day

รู้หรือไม่คะ ทุกวันนี้เต่าเป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการกำหนดให้วันที่ 23 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น วันเต่าโลก (World Turtle Day) เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนร่วมใจกันอนุรักษ์เจ้าเต่าน้อยให้คงอยู่กับโลกเราต่อไปอีกยาวนาน

อีจันมี 10 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับเต่า มาฝากเพื่อนๆลูกเพจอีจันกันด้วยค่ะ

1.อุณหภูมิส่งผลต่อเพศ ไม่ว่าลูกเต่าทะเลที่เพิ่งฟักจะเกิดมาเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย มันต่างก็ถูกกำหนดโดยอุณหภูมิของบริเวณรัง หากอุณหภูมิสูงกว่าจุดที่ส่งผลต่อการเพาะฟักไข่เต่า หรือ “pivotal temperature” (28 – 29 องศาเซลเซียส) เต่าที่เกิดมาจะเป็นเพศเมีย และถ้าต่ำกว่า ก็จะเป็นเพศผู้ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นส่งผลให้เต่าที่เกิดมาเป็นเพศเมียในอัตราส่วนที่มากกว่าเพศผู้ ยิ่งทำให้อัตราการเกิดของเต่ายิ่งน้อยลงไปด้วย

2. เต่าบก vs เต่าน้ำจืด vs เต่าทะเล ไม่ใช่เต่าทุกชนิดที่ว่ายน้ำได้ เต่าบกว่ายน้ำไม่เป็น ถ้าปล่อยลงน้ำจะจม เนื่องจากกระดองเต่ามีน้ำหนักมาก ส่วนเต่าน้ำจืดว่ายน้ำได้ แต่ต้องการพื้นดินไว้พักในการว่ายน้ำด้วย และเต่าทะเลอาศัยอยู่ในทะเล ยกเว้นตอนวางไข่ จะขึ้นมาวางไข่บนบก

3. ทั่วโลกมีเต่าทะเลเพียง 7 ชนิด และมีเพียง 5 ชนิดที่พบในไทย ได้แก่ เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า เต่าหัวค้อน เต่ามะเฟือง เต่าหลังแบน และเต่าหญ้าแคมป์ ไม่พบในไทย

4. เต่าญี่ปุ่น หรือ เต่าแก้มแดง ชื่อแดนทิศอุทัย มาจากประเทศศิวิไลซ์ แต่เป็นเอเลี่ยนในประเทศไทย หากคุณพบเต่าที่มีหน้าตาแบบนี้โปรดจงรู้ไว้ว่ามันไม่ใช่เต่าในประเทศไทย แต่เป็นเต่าต่างถิ่น

5. อายุเต่าที่มากที่สุด เต่าทะเลและเต่าบกขนาดใหญ่สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานมาก เต่าสามารถมีอายุได้ถึง 150 ปีหรือมากกว่านั้น บางคนประมาณว่าเต่าตัวใหญ่อาจมีอายุยืน ราว 400 ถึง 500 ปี!

6. ทุกครั้งที่คุณได้ยินเสียง raptor ในเรื่อง Jurassic Park นั่นหมายความว่าคุณกำลังฟังเสียงเต่าตอนกำลังมีเพศสัมพันธ์กันอยู่

7. ไม่ใช่เต่าทุกชนิดกินพืช บางชนิดก็กินเนื้อ บางครั้งกินมูลของสัตว์อื่น

8. เต่าทุกตัววางไข่บนบก ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลหลายพันไมล์ เต่าก็จะกลับมาวางไข่ในที่ที่มันเกิด เพราะเต่ามีเข็มทิศในตัว ทำให้มันสามารถจำทางกลับบ้านได้

9. เต่าไม่สามารถคลานออกจากกระดองได้ เพราะกระดองคือกระดูกที่ต่อเข้ากับกระดูกสันหลัง และกระดูกซี่โครง กระดูกหน้าอก และกระดูกหัวไหล่บางส่วน ทำให้กระดูกเหล่านี้ถูกยึดติดกับกระดอง ทั้งกระดองหลังและกระดองท้องของเต่า

10. เต่ามะเฟืองเต่าทะเลที่ใหญ่ที่สุด ดำน้ำได้ลึกที่สุด ยาวได้ถึง 2 เมตร หนักถึง 600 kg สามารถดำน้ำได้ลึกกว่า 1000 เมตร

สุดท้ายนี้ เราทุกคนสามารถช่วยกันได้คนละไม้คนละมือ เพื่อช่วยให้เจ้าเต่า เพื่อนอายุนับร้อยปีของเราให้ได้มีชีวิตรอดอยู่ต่อไปกับเราอีกนานๆ

โดยสามารถทำได้ง่ายๆ หลากหลายวิธี เช่น ลดการใช้ถุงพลาสติก ทิ้งขยะพลาสติกให้เป็นที่ไม่ทิ้งลงบนชายหาด หรือรวมตัวกันทำกิจกรรมเก็บขยะที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลและมนุษย์อย่างเศษแก้ว แค่เราไม่นิ่งเฉย เราก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้นะคะ

แหล่งที่มา : https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/world-turtle-day/