Thailand Digital Outlook คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเติบโตขึ้น

ชัยวุฒิ รมว.ดีอีเอส เผยผลสำรวจ Thailand Digital Outlook คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 85%

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ประจำปี พ.ศ.2565 ว่า ถือเป็นหนึ่งในการดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และได้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงฯ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ดำเนินการจัดเก็บ รวบรวมข้อมูลตัวชี้วัดและสถิติด้านการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยมุ่งหวังนำข้อมูลต่างๆ มาใช้สำหรับประเมินผลจากการดำเนินนโยบายด้านการพัฒนาดิจิทัลของประเทศ ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานต่างๆ ได้ดำเนินการมา และนำไปสู่การปฏิรูปแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทยต่อไปในอนาคต ให้สามารถพัฒนาทัดเทียมได้เทียบเท่ากับนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

โดยโครงการศึกษา Thailand Digital Outlook เป็นการดำเนินการต่อเนื่องของ สดช. ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 โดยในปี พ.ศ.2565 นี้ นับเป็นปีที่ 4 ซึ่ง สดช. ได้ศึกษาตัวชี้วัดด้านดิจิทัลของประเทศ อ้างอิงตามกรอบมาตรฐานสากลที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือองค์การ OECD (The Organisation for Economic Co-operation and Development) กำหนดไว้ จำนวน 85 ตัวชี้วัด ครอบคลุม 8 มิติเชิงนโยบาย และดำเนินการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลตัวชี้วัดดังกล่าว ผ่านการสำรวจด้วยแบบสอบถาม 3 กลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน และหน่วยงานบริการปฐมภูมิ เช่น โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และอาศัยข้อมูลที่ได้รับจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ฯลฯ มาใช้ประกอบการศึกษาในปีนี้

การสำรวจพบว่าตัว ชี้วัดด้านดิจิทัลของประเทศส่วนใหญ่ดีขึ้นในทุกมิติ ได้แก่

มิติการเข้าถึง การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของครัวเรือนไทย อยู่ที่ 88.0 % เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีการเข้าถึง 85.2%

มิติการใช้งาน สัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของไทย 85.0% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา (84.3%)

มิติสังคม สัดส่วนการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้สูงอายุ ช่วง 55-74 ปี ในปี พ.ศ. 2565 คิดเป็น 63.1% เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ซึ่งอยู่แค่เพียง 48.8 %

มิติความน่าเชื่อถือ ร้อยละผู้ประสบปัญหาถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล/ความเป็นส่วนตัว เท่ากับร้อยละ 3.4 ลดลง (ดีขึ้น) จากปี 2564 ซึ่งเคยมีค่าอยู่ที่ร้อยละ 6.3

มิติการเปิดเสรีของตลาด สัดส่วนผู้ประกอบการที่มีการจำหน่ายสินค้า/บริการผ่านทางออนไลน์ไปตลาดต่างประเทศ ปี 2565 สูงถึง 26.3% เทียบกับปี 2564 ที่อยู่แค่3.2 %

มิติการเติบโตและความเป็นอยู่ สัดส่วนของมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจดิจิทัล ปี 2564 คิดเป็น 50.90 % ของภาคอุตสาหกรรม ค่อนข้างใกล้เคียงกับปี 2563 ที่มีตัวเลขเท่ากับ 50.86%

โดยตัวชี้วัดปี 2564 ที่มีค่าคงที่เท่ากับปี 2563 ได้แก่ มิติด้านนวัตกรรม มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรม ICT ต่อ GDP คิดเป็น 3.32% และมิติอาชีพ สัดส่วนการจ้างงานของธุรกิจดิจิทัลต่อการจ้างงานทั้งหมดในประเทศไทย คิดเป็น 34.4%

สำหรับประเด็นที่สำคัญที่พบจากผลการสำรวจฯ ประจำปี พ.ศ. 2565 พบว่า

1.การใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 85 โดยกลุ่มผู้ใช้งานหลัก ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานเอกชน นักศึกษา

2.ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยนโยบายที่ประชาชนต้องการมากที่สุด ได้แก่ บริการอินเทอร์เน็ตที่ไม่มีค่าใช้จ่าย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มการเข้าถึง และการสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

3.ร้อยละ 78.83 ของธุรกิจไทยมีการขายสินค้า/บริการผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น และเริ่มบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น

4.ร้อยละ 95.17 ของหน่วยงานบริการปฐมภูมิทั่วประเทศ มีการใช้งานและติดตั้งอินเทอร์เน็ต สำหรับใช้งานในองค์กร ติดต่อสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร และให้บริการออนไลน์

5.ประชาชนไทยเกินกว่าครึ่ง มีทักษะดิจิทัลขั้นพื้นฐานที่จำเป็นและรองรับต่อการทำงานในยุคดิจิทัล และจะต้องเตรียมความพร้อมได้รับการพัฒนาในทักษะที่รองรับต่ออนาคต เช่น การเขียนโปรแกรม (Coding) หรือการสร้างเว็บไซต์

6.ปัญหาจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัลมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนหน้า แต่ปัญหาข่าวปลอม (Fake News) ยังเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข

คลิปแนะนำอีจัน
ศึกช้าง กับ หมา ส.ยอดทอง VS ทิดเเลมโบ