แวะมา! ดาวเคราะห์น้อย 2023 BU เฉียดโลก ใกล้สุดอันดับ 4 ที่เคยบันทึก

สดร. เผยภาพ ดาวเคราะห์น้อย 2023 BU โคจรเฉียดโลก ใกล้สุดเป็นอันดับ 4 ที่นักวิทยาศาสตร์เคยบันทึก

ดาวเคราะห์น้อยขนาดเท่ารถยนต์โคจรเฉียดโลกเช้าวันนี้ แต่ไม่ส่งผลกระทบใดๆ สบายใจได้

วันนี้ (27 ม.ค.66) เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความว่า เวลา 07:29 น. ตามเวลาประเทศไทย ดาวเคราะห์น้อยขนาดเท่ารถยนต์เคลื่อนที่เฉียดโลกด้วยระยะห่างเพียง 3,600 กิโลเมตรเหนือทวีปอเมริกาใต้ นับเป็นดาวเคราะห์น้อยที่เฉียดเข้าใกล้โลกมากที่สุดเป็นอันดับ 4 เท่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยบันทึก

ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ชื่อ 2023 BU เพิ่งตรวจพบขณะโคจรเคลื่อนมุ่งหน้ามาทางโลกเมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2566 โดย เกนนาดี โบรีซอฟ (Gennady Borisov) นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวยูเครน ผู้ที่เคยค้นพบ “ดาวหางโบรีซอฟ” ดาวหางที่มาจากนอกระบบสุริยะดวงแรกในปี ค.ศ.2018

ดาวเคราะห์น้อย 2023 BU มีขนาดความกว้างเพียงประมาณ 3.5 – 8.5 เมตร ซึ่งใกล้เคียงกับวัตถุที่ตกลงมาเป็นอุกกาบาตบริเวณ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.2015 ที่ประเมินว่าน่าจะมีขนาดประมาณ 3.5 เมตร หมายความว่าต่อให้ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้พุ่งเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลก ก็อาจเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศหมด หรืออาจกลายเป็นเพียงเศษอุกกาบาตขนาดเล็กที่ตกถึงพื้นโลกเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การติดตามดาวเคราะห์น้อย 2023 BU ของนักดาราศาสตร์หลายคนหลังการตรวจพบของโบรีซอฟ ช่วยยืนยันว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะโคจรเข้ามาเฉียดใกล้โลกที่ระยะห่างประมาณ 3,600 กิโลเมตร โดยตำแหน่งที่ดาวเคราะห์น้อยเข้าใกล้โลกที่สุดจะอยู่เหนือพื้นผิวโลกบริเวณทางใต้ของทวีปอเมริกาใต้ในวันที่ 27 มกราคม 2023 เวลา 07:29 น. (ตามเวลาประเทศไทย)

ในช่วงที่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ใกล้โลก 2023 BU อยู่ใกล้โลกมากกว่าวงโคจรของ “ดาวเทียมค้างฟ้า” (Geostationary satellite) ประมาณ 10 เท่า และใกล้กว่าวงโคจรของกลุ่มดาวเทียม GPS ของสหรัฐฯ เกือบ 6 เท่า ระยะห่างดังกล่าวทำให้ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เป็นดาวเคราะห์น้อยที่เข้ามาใกล้โลกมากที่สุดเป็นอันดับ 4 เท่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยบันทึก

สำหรับ ดาวเทียมค้างฟ้า (Geostationary satellite) เป็นดาวเทียมที่ถูกส่งให้โคจรเหนือพื้นผิวโลกบริเวณหนึ่งตลอดเวลา มีความสูงจากพื้นโลกเหนือแนวเส้นศูนย์สูตรโลก 35,786 กิโลเมตร

สาเหตุที่นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าดาวเคราะห์น้อย 2023 BU ไม่มีความเสี่ยงต่อโลก คือ ขนาดที่เล็กมากของดาวเคราะห์น้อย หากดาวเคราะห์น้อยดวงนี้พุ่งเข้าปะทะกับบรรยากาศของโลก มวลส่วนใหญ่ของดาวเคราะห์น้อยจะเผาไหม้ในบรรยากาศ เกิดเป็น “ลูกไฟ” (fireball) และอาจมีชิ้นส่วนหลงเหลือจากการเผาไหม้ตกลงถึงพื้นโลก กลายเป็นอุกกาบาตขนาดเล็ก

จากปัจจัย 2 อย่าง คือ ขนาดของดาวเคราะห์น้อยที่เล็กมาก และระยะที่ดาวเคราะห์น้อยเฉียดเข้าใกล้โลกมาก จะทำให้เส้นทางการโคจรของ 2023 BU หลังจากนี้เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย เพราะการรบกวนจากความโน้มถ่วงของโลก

และจากการคำนวณโดยอาศัยข้อมูลการสังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยล่าสุด พบว่าก่อนที่ 2023 BU จะเข้าใกล้โลก วงโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีรูปร่างค่อนข้างกลม ใช้เวลาโคจรครบรอบดวงอาทิตย์นาน 359 วัน แต่หลังจากที่ดาวเคราะห์น้อยเคลื่อนที่เฉียดโลกไปแล้วจะทำให้วงโคจรดาวเคราะห์น้อยมีรูปร่างเป็นวงรีมากขึ้น โดยวงโคจรใหม่จะมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุดอยู่ที่ประมาณครึ่งหนึ่งระหว่างวงโคจรโลกกับดาวอังคาร ทำให้คาบการโคจรครบรอบของ 2023 BU เปลี่ยนเป็น 425 วัน

คลิปอีจันแนะนำ
จ่ายเป็นล้าน แต่ได้รถเถื่อน!