“โต้ง สวนนงนุช” ผู้ปลุกไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี

“โต้ง สวนนงนุช” ผู้ปลุกไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี เผยแนวคิดการจัดสวนที่ใช้มุมมองเดียวกับการทำหนัง

“ทีแรกผมไม่ได้เต็มใจทำ แต่ต้องทำเพราะคุณแม่สั่ง” คำบอกล่าวของ คุณโต้ง กัมพล ตันสัจจา ผู้อำนวยการสวนนงนุช พัทยา และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเพ็กซ์ ภาพยนตร์ จำกัด ที่บอกกับทุกคนอย่างนี้

ผมคิดว่าการสร้างสวนควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาล หรือมูลนิธิที่จะทำให้ประชาชน เพราะค่าใช้จ่ายสูง เมื่อสร้างเสร็จก็ยังต้องดูแลใช้เงินอีกทวีคูณ ต้องดูแลต้นไม้ดูแลคน แต่คุณแม่บอกไม่เป็นไร เราอยู่ใกล้พัทยา เราดึงนักท่องเที่ยวได้”

คุณนงนุช ตันสัจจา ผู้เป็นมารดามีใจรักการทำสวนและริเริ่มไว้ คุณโต้งจำเป็นต้องสืบทอด โดยวางมือจากวงการภาพยนตร์ และโรงภาพยนตร์ที่ดูแลอยู่ ทั้งสยาม ลิโด สกาลา อินทรา มุ่งหน้าสู่พัทยา

แม้ไม่เคยรู้เรื่องการจัดสวนมาก่อน คุณโต้งก็ต้องลงมือทำ พยายามเรียนรู้จากผู้ใหญ่ที่เป็นนักจัดสวนมือหนึ่งยุคนั้น คือคุณสิทธิพร โทณวนิก ด้วยการตามไปช่วยงานทุกพื้นที่ ลองผิดลองถูก และยังได้แรงบันดาลใจจากหนังสือในเรื่องสวนสำหรับศตวรรษที่ 21 สั่งสมให้คุณโต้งเกิดปัญญามองทะลุ ว่า การจัดสวนไม่จำเป็นต้องอิงทฤษฎีทั้งหมด

สี่สิบกว่าปีก่อน คุณโต้งเริ่มสะสมพันธุ์ไม้ โดยเลือกพันธุ์ที่เหมาะกับบ้านเราและต่างจากสวนในซีกโลกตะวันตก ให้ต้นปาล์มเป็นพระเอกของสวน เพราะเอเชียปลูกปาล์มมากเป็น 80% ของทั้งโลก ตามด้วยพันธุ์ไม้อื่น ๆ อีกนับร้อยนับพัน พื้นที่ 1,700 ไร่ ถูกนำมาจัดเป็นสวนสวยให้ผู้คนได้เข้ามาชม 400 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่เก็บบำรุงพันธุ์ไม้หรือเนอร์สเซอรี

ด้วยความเอาจริงเอาจัง ถือคติว่าทำแล้วต้องทำให้สุด ทำให้ถึง ไม่ทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ ทำอะไรต้องทำเดี๋ยวนี้ และทำไม่หยุด ทุกวันนี้ สวนนงนุชของคุณกัมพล ตันสัจจา รวบรวมพันธุ์ไม้ได้มากที่สุดในโลกอยู่ 5 ชนิด คือ ปาล์ม เก็บรวบรวมได้ 1,567 ชนิด ซึ่งทั่วโลกมีอยู่ 2,600 ชนิด ปรง เก็บรวมได้ 348 ชนิด ซึ่งทั่วโลกมี 352 ชนิด ฮาลิโกเนีย เก็บรวบรวมไว้ได้ 508 ชนิด ซึ่งทั่วโลกมีอยู่ 600 ชนิด โฮย่า เก็บมาไว้ได้ 1,093 ชนิด ซึ่งทั่วโลกมีอยู่ 1,500 ชนิด และเฟื่องฟ้า เก็บได้ 196 ชนิด ซึ่งทั่วโลกมี 300 ชนิด

การจัดสวนของคุณโต้ง ใช้มุมมองเดียวกับการทำหนังหรือสร้างภาพยนตร์ คือนอกจากมีเรื่องราวประหนึ่งเดินชมหนังรัก หนังบู๊ หนังชีวิต ตามบรรยากาศแต่ละส่วนแล้ว คุณโต้งบอกว่าสวนต้องสวยทุกมุม ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ต้องเหมือนกับสามารถจับภาพตรงหน้าใส่กรอบได้ เพราะคนมาเพื่อชื่นชม ถ่ายรูป และที่สำคัญ เด็ก ๆ ต้องมองเก็บประสบการณ์จากสวนนงนุชไปเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า

สวนนงนุชจึงมีนักแสดงหลักให้สัมผัสจับต้องได้ หลังจากมีโชว์ช้าง รำไทยแสดงตั้งแต่ยุคคุณแม่ คุณกัมพลให้ช่างปั้นช่วยกันสร้างหุ่นไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปีขวัญใจเด็กๆ มาตั้งไว้ในสวนเป็นจำนวนนับพันตัว ด้วยรูปร่างและขนาดเหมือนจริง ราวกับจูราสสิค พาร์ค รวมทั้งตัวที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เพิ่งพบด้วย

“เด็กลุยเข้าไปจับ หักบ้าง เด็กโวยวาย ผมบอกไม่เป็นไร จะได้ทำใหม่ เหยียบต้นไม้ผมตาย ผมบอกดีแล้วจะได้รู้ ตรงนั้นอย่าไปปลูก” คุณโต้งว่าอย่างนั้น

นักท่องเที่ยวจะเห็นความงามและเรียนรู้ได้จากการเดินชม หรือหลบแดดด้วยการนั่งรถรางสบาย ๆ แล่นลัดเลาะไปทั่วสวนในเวลา 40 นาที ตื่นตากับวิธีเล่าเรื่องต้นไม้แบบตะโกน คือนอกจากเห็นต้นจริง ยังเป็นผลที่เป็นปูนปั้นระบายสีขนาดยักษ์ตั้งให้เห็นอยู่ข้างต้น ง่ายต่อการจดจำ โดยนำวิธีการแบบนี้มาจากอิตาลี ยังมีสวนสมุนไพร ที่จัดหมวดหมู่น่ารัก เช่น หมวดแกงส้ม มีต้นอะไรบ้าง หมวดแก้โรคแต่ละโรค มีต้นอะไรบ้าง มีไม้แปลกจากต่างประเทศ มีชวนชมยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต้นไม้ทุกต้นสดชื่นมีชีวิต เพราะมีคนสวนใส่ใจดูแล

รวมทั้งท่ามกลางไดโนเสาร์พันกว่าตัวนั้น ยังมีไดโนเสาร์ 12 ตัวที่พบในประเทศไทยให้เด็ก ๆ ศึกษา

ทั้งหมดเกิดจากแนวคิดและประสบการณ์ส่วนตัว

“ตอนเด็ก ๆ ผมเรียนที่ฮ่องกง อาหารแย่มาก ผมก็ซื้อปลากระป๋องไปกินกับข้าว ทุกวันนี้อาหารที่ผมชอบที่สุด คือปลากระป๋องเปล่า ๆ กับข้าว เพราะว่ามันติดมาตั้งแต่เด็ก ผมก็เลยรู้เลยว่าเด็กเนี่ย ถ้าเผื่อเราทำให้เขาชอบอะไร เขาก็จะเก็บไปจนโต แล้วก็จะสอนลูกสอนหลานด้วย ผมทำทุกอย่างนี่ไม่ได้สตางค์นะ ผมอยากเพิ่ม Value เพิ่มคุณค่าให้สวนของผม สำหรับเด็ก ตอนนี้ผมดีใจ เด็กมาแล้วถ่ายรูปกับไดโนเสาร์ ไลน์บอกเพื่อน  เพื่อนพาพ่อแม่มา ซึ่งผมถือว่าเป็นจุดเล็ก ๆ เท่านั้นเอง ที่จะสร้างคน

 

ฝรั่งเขาบอกว่าสวนนงนุชเป็นสวนที่สวยที่สุดในโลก แต่ผมอยากเติมว่าสวนนงนุชเป็นสวนที่มีคุณค่าที่สุดด้วย

จุดเด่นที่อลังการงานสร้างอย่างภาคภูมิใจที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือ พิพิธภัณฑ์หัวโขน ที่มีหัวโขนกว่า 500 หัว โดยมีช่างฝีมือมาปักทำอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ ผู้ชมได้เห็นกระบวนการทำทั้งหมด

“ผมกำลังคิดว่าจะเพิ่มคนทำงานอีก จะได้เร็วขึ้น” เจ้าของคติทำอะไรทำให้สุด ทำเดี๋ยวนี้ไม่มีรีรอ บอกกับอีจันขณะพาชมทั่วบริเวณ ซึ่งยังมีส่วนการทำงานหลายฝ่ายที่ดำเนินตลอดเวลา ทั้งงานสร้างช้างเอราวัณขนาดใหญ่ งานดูแลต้นไม้ งานจัดเก็บก้อนหิน เพื่อเรียงเป็นภาพบนผนัง