ทำลายทรัพย์สิน ซึ่งเป็นสินสมรสมีความผิดทางอาญาหรือไม่

อย่าหาว่าทนายไม่บอก ปัญหาครอบครัวทะเลาะเบาะแว้งชอบทำลายข้าวของทรัพย์สินหรือสินสมรส ระวังโทษอาญาไว้ให้ดี!

ปัญหาครอบครัวอาจมีโทษทางอาญาได้ วันนี้ทนายเจมส์จะมาไขข้อคาใจนี้ให้หลายๆ คู่ได้รู้กัน โดยไม่ควรให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจคำว่า สินสมรส คือ ทรัพย์สิน ที่ได้มาหลังจากสามีภรรยาจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย สามีภรรยาจึงเป็นเจ้าของร่วมในสินสมรส เช่น เงินเดือน โบนัส ดอกผลที่ได้จากสินส่วนตัว ค่าเช่าจากสินส่วนตัว เป็นต้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 


มาตรา 1474 ได้แก่ ทรัพย์สิน 

  1. คู่สมรสได้มา ระหว่างสมรส 

  2. ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรม หรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรม หรือ หนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส 

  3. เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

การบริหารจัดการสินสมรส สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้

มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้        

  1. ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้        

  2. ก่อตั้งหรือกระทำให้สิ้นสุดลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์        

  3. ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี        

  4. ให้กู้ยืมเงิน        

  5. ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา        

  6. ประนีประนอมยอมความ        

  7. มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย        

  8. นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง


ดังนั้น แม้สามีภรรยาจะเป็นเจ้าของสินสมรสร่วมกันก็ตาม แต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้สูญหาย หรือเบียดบังเอาสินสมรสไปเป็นของตนได้ ซึ่งจะมีความผิดตามกฏหมายอาญา เช่น ข้อหายักยอกทรัพย์ หรือทำให้เสียทรัพย์ แล้วแต่กรณี

ตามประมวลกฎหมายอาญา


มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม โดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา 358 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน สามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


สุดท้ายนี้ การใช้ชีวิตคู่ย่อมมีการกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ควรให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ไม่ควรใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา แม้จะไม่ได้ทำร้ายตัวบุคคลก็ตาม แต่การทำลายทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัว ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ตาม ก็อาจจะสะสมเป็นปัญหาเรื้อรัง หรือเป็นปัญหาครอบครัว มีผลถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับเด็กๆ และเด็กอาจจะมีพฤติกรรมเลียนแบบ นำวิธีการรุนแรงดังกล่าวไปใช้กับเพื่อนหรือคนในสังคมได้

คลิปอีจันแนะนำ
ผัว-เมีย ตบตีกันคนนอกควรยุ่งไหม?