‘นาซา’ พัฒนาระบบระวังภัย พายุสุริยะ

นักวิชาการดาราศาสตร์ เผย ‘นาซ่า’ วางแผน พัฒนาระบบเอไอระวังภัย เตรียมรับมือพายุสุริยะ ปี 2025

หลังจากมีการทำนายว่าโลกของเราอาจจะเกิดพายุสุริยะ ในช่วงปี 2025 และตามมาด้วยการทำนาย ว่า พายุสุริยะ  จะนำมาสู่วันสิ้นโลก 

ทำให้หลายคนแตกตื่นกันเป็นอย่างมาก เนื่องจากเคยมีเหตุการณ์พายุสุริยะขนาดรุนแรงที่เคยสร้างความเสียหายมาแล้ว คือ 

เหตุการณ์คาร์ริงตัน (Carrington Event) ในปี 1859 ที่ทำให้เกิดแสงออโรร่าเป็นวงกว้าง และมีรายงานไปถึงประเทศแถบศูนย์สูตรบางประเทศ อีกทั้งยังทำให้ระบบการส่งโทรเลขในยุคนั้นล่มลงไปชั่วคราว  

หรือพายุสุริยะในปี 1989 ที่ส่งผลต่อระบบจ่ายไฟฟ้าในประเทศแคนาดา ทำให้ไฟดับเป็นวงกว้าง 

การทำนายในครั้งนี้ จึงทำให้คนทั้งโลกจับตามอง แล้วเริ่มหาวิธีเตรียมตัวรับมือ 

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 66 ดร.มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์เเห่งชาติ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก มติพล ตั้งมติธรรม เกี่ยวกับการรับมือพายุสุริยะ ระบุว่า 

พายุสุริยะเป็นเรื่องที่น่าสนใจต่อมนุษย์บนโลกเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ในเรื่องของความสวยงามที่นำมาซึ่งแสงเหนือ แสงใต้ หรือ “ออโรร่า” ที่ปรากฏเหนือท้องฟ้าในบริเวณใกล้ขั้วโลก ไปจนถึงภัยอันตรายที่อาจจะนำมาซึ่งการขัดข้องทางระบบไฟฟ้าหรือการสื่อสาร 

โดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือองค์การนาซา (NASA) ได้พัฒนาระบบเอไอเพื่อการระวังภัย และทำนายพายุสุริยะล่วงหน้าด้วยความแม่นยำที่สูงขึ้น เพื่อให้พร้อมรับมือกับโซลาร์แม็กซิมัม (Solar Maximum)  

ทั้งนี้ ดวงอาทิตย์ของเราจะผ่านวัฏจักรสุริยะ (Solar Cycle) ที่กินระยะเวลาประมาณ 11 ปี ซึ่งในระหว่างนี้จะมี 2 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ ได้แก่ 

1. ช่วงโซลาร์มินิมัม (Solar Minimum) ซึ่งจะเป็นช่วงที่จุดบนดวงอาทิตย์และพายุสุริยะจะลดลง  

2. ช่วงโซลาร์แม็กซิมัม (Solar Maximum) ซึ่งเป็นช่วงที่จะสามารถพบจุดบนดวงอาทิตย์ และเกิดพายุสุริยะขึ้นได้ 

อย่างไรก็ตาม ดาวเทียมและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ในอวกาศนั้น มีความเสี่ยงต่อพายุสุริยะมากกว่ามนุษย์บนโลกเป็นอย่างมาก การเตือนภัยล่วงหน้าอาจจะทำให้ผู้ควบคุมสามารถปิดระบบที่สำคัญ หรือหันทิศทางของดาวเทียมหรือยานอวกาศที่จะลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากพายุสุริยะลงได้เป็นอย่างมาก 

ด้วยเหตุนี้องค์การอวกาศนาซา จึงได้พัฒนาระบบเอไอ ที่สามารถนำข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมศึกษาดวงอาทิตย์ เพื่อที่จะสามารถทำนายโอกาส ความรุนแรง และเวลาที่อาจจะเกิดพายุสุริยะขึ้นได้อย่างแม่นยำมากขึ้น เพื่อที่เราจะได้สามารถเตือนภัย และเฝ้าระวังภัย หรือป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากพายุสุริยะที่รุนแรงได้ 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเรากำลังจะเข้าสู่ช่วงช่วงโซลาร์แม็กซิมัม ในปี 2025 แต่ในปัจจุบันยังไม่ได้มีเหตุให้ต้องเฝ้าระวังภัยแต่อย่างใด เพราะในช่วงโซลาร์แม็กซิมัมครั้งที่ผ่านมาในปี 2014 และปี 2003 ไม่ได้เกิดเหตุขัดข้องที่รุนแรง หรือส่งผลเป็นวงกว้างต่อมนุษย์บนโลก 

ข้อมูลจาก : มติพล ตั้งมติธรรม