ศธ. เตรียมเพิ่มเวลาเรียน วิชาประวัติศาสตร์ หวังเพิ่มสำนึกรักชาติ

ศธ. ตั้งเป้า สร้างสำนึก รักความเป็นไทย เตรียมออกประกาศ แยกวิชา ประวัติศาสตร์ ออกจากวิชาพื้นฐาน คิดหน่วยกิตแยก – เพิ่มเวลาเรียน

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เผยว่า ตามที่ นายกฯพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ศธ. มีนโยบาย 8+1 โดยการกำหนดเวลาเรียน 8 กลุ่ม และให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ แยกออกมา 1 รายวิชาอย่างชัดเจน เพื่อบ่มเพาะให้นักเรียนภาคภูมิใจรักความเป็นไทย ห่วงในสิ่งที่บรรพชนให้ไว้เป็นมรดกทางปัญญา รักษา สืบสาน ต่อยอดและนำมาปรับประยุกต์ในปัจจุบันไปแล้วนั้น

ดังนั้น จึงมีการแยกรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ออกมาเป็น 1 รายวิชาอย่างเป็นทางการ โดยมอบหมายให้ (สพฐ.) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ซึ่งจะจัดขึ้นใน วันที่( 28 พ.ย. 65 ) เพื่อพิจารณาความเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ” และ พิจารณาแนวทางขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง งบประมาณ 2566 เพื่อเป็นแนวทางให้ต้นสังกัดของสถานศึกษา และสถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในร่างการประกาศ ศธ.ฉบับดังกล่าว กําหนดให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดโครงสร้างหลักสูตร สถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ 1 วิชา โดยจัดเวลาเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ในระดับประถมศึกษา 40 ชั่วโมงต่อปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 40 ชม. (1 หน่วยกิตต่อปี) และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 3 ปี 80 ชม. (2 หน่วยกิต) ซึ่งสถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การใช้พิพิธภัณฑ์เป็นสื่อ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและต่อยอดประวัติศาสตร์สู่งานอาชีพ การบูรณาการประวัติศาสตร์กับรายวิชาอื่น และการศึกษานอกสถานที่และแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เป็นต้น

ตรีนุช ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า การขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ในปีงบประมาณ 2566 นี้ นอกจากจะเน้นเรื่องการเรียนการสอนแนวใหม่ สร้างการรับรู้ เน้นย้ำความสำคัญโดยจะออกเป็นประกาศ ศธ.ในเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังได้มีการวางระบบสนับสนุนอย่างเหมาะสมให้ครอบคลุมทุกมิติ เช่น การจัดกลุ่มตัวชี้วัดสาระประวัติศาสตร์และสาระหน้าที่พลเมือง เพื่อลดความซ้ำซ้อนของตัวชี้วัด การส่งเสริมประสิทธิภาพจัดการเรียนรู้

โดยส่งเสริมให้ใช้แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นห้องเรียน เช่น อุทยานประวัติศาสตร์พิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ชุมชน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนําองค์ความรู้ที่ได้จากแหล่งเรียนรู้ ไปต่อยอด ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจําวัน และเกิดเป็นจริยธรรมของนักเรียน มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยบูรณาการการทํางานข้ามกระทรวง เช่น สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา วัฒนธรรมจังหวัด การท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์จังหวัด เป็นต้น

เเละยังมีการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศด้านการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง การใช้สื่อดิจิทัลและวิธีการเรียนรู้สมัยใหม่และมีการติดตาม ให้คำปรึกษา และประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องด้วย

คลิปอีจันแนะนำ
ทุบหัวสาวสอง ถ่วงน้ำ ตายทั้งเป็น