โรคอีโบลา อาการ และการป้องกัน

ทำความรู้จักกับอีโบลา เชื้อโรคที่สร้างความทรมานในอดีต กำลังจะย้อนเวลากลับมาอีกครั้ง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อีโบลา ชื่อโรค โรคหนึ่งที่คนทั้งโลกให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ และในต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา อีโบลา ได้กลับมาระบาดอีกครั้งในประเทศในทวีปแอฟริกา พบผู้ติดเชื้อในประเทศยูกันดาหลายเมือง ถึงตอนนี้องค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้ประกาศ ให้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ แต่อีโบล่าก็เป็นเชื้อที่รุนแรง เพื่อเป็นการไม่ให้เป็นการตื่นตระหนกจนเกินไป จัน จึงนำความรู้เกี่ยวกับ “โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา” จาก กรมควบคุมโรค มาเพื่อเป็นความรู้กันค่ะ

อนุทินสั่งคุมเข้ม นักท่องเที่ยวเข้าไทย หลังอีโบลาระบาดยูกันดา

วันนี้ (25 ต.ค.65) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ในประเทศทวีปแอฟริกาที่ เริ่มต้นในเดือนกันยายน 2565 โดยข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขประเทศยูกันดาและองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2565 มีรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศยูกันดาหลายเมือง จำนวน 90 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 44 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 49 ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขติดเชื้อ 11 ราย และเสียชีวิต 5 ราย

ซึ่งการระบาดครั้งนี้เป็นการระบาดของไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซูดาน ซึ่งมีความรุนแรงเป็นอันดับสอง (อัตราป่วยตายเฉลี่ยร้อยละ 53) รองมาจากสายพันธุ์ซาอีร์ (อัตราป่วยตายเฉลี่ยร้อยละ 68) สำหรับการระบาดในครั้งนี้ ถึงแม้จำนวนผู้ป่วยยังไม่มากแต่เป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิดโดยมีการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมการระบาดในประเทศยูกันดาอย่างเข้มข้น จากการตรวจสอบข่าวพบว่าองค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้ประกาศ ให้การระบาดครั้งนี้ เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) แต่ปกติจะมีการประเมินสถานการณ์ระบาดเป็นระยะ

มาทำความรู้จัก อีโบลา เชื้อโรคที่ไม่ต้องถึงกับระแวงแต่ควรระวัง

อีโบลา  เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส อีโบลา (Ebola virus) ซึ่งเป็นโรคที่มีความรุนแรงและอันตรายถึงชีวิต พบว่ามีการระบาดครั้งแรก คือที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในแอฟริกากลาง เมื่อได้รับเชื้อไวรัสนี้เข้าสู่ร่างกาย ไวรัสก็จะสร้างความเสียหายแก่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและอวัยวะที่สำคัญต่าง ๆ ในที่สุดแล้วจะทำให้ระดับเซลล์การแข็งตัวของเลือด (Blood-Clotting Cells) ต่ำลงและนำไปสู่ภาวะเลือดออกที่รุนแรงและไม่สามารถควบคุมได้

อาการของอีโบลา

ช่วงแรกของการติดเชื้อไวรัสอีโบลา จะคล้ายกับอาการของไข้หวัดทั่วไป หลังจากได้รับเชื้อจะเริ่มแสดงอาการในช่วง 3 สัปดาห์ อาการที่พบได้บ่อยจะมีไข้สูงเจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดข้อต่อและกล้ามเนื้อ ร่างกายอ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างรุนแรง ไม่อยากอาหาร ปวดท้อง

และเมื่อเวลาผ่านไป อาการมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดเลือดออกในร่างกาย รวมไปถึงออกจากทางตา หูและจมูก ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการอาเจียนหรือไอออกมาเป็นเลือด ท้องร่วงเป็นเลือด และมีผื่นขึ้น

การรักษาโรคอีโบลา ในปัจจุบัน ยังไม่มียาและวัคซีนที่ป้องกันเชื้ออีโบลาได้ จึงทำให้การรักษาเป็นการประคับประคองหรือควบคุมอาการ โดยทางแพทย์นั้น จะเป็นการรักษาตามอาการของผู้ป่วย และเนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก จึงต้องทำการรักษาในโรงพยาบาลและจำเป็นต้องมีการแยกผู้ป่วยเพื่อลดความเสี่ยงในการระบาดของโรค

การป้องกันโรคอีโบลา

ถึงในตอนนี้จะยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคอีโบลา แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการติดเชื้อได้นะคะเช่น

  • หลีกเลี่ยงการไปท่องเที่ยวพื้นที่ ที่มีการระบาดของเชื้อโรค

  • ล้างมือโดยใช้สบู่ล้างมือ หรือใช้เจลล้างมือฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์

  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องดูแลคนป่วย ต้องระวังและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับของเหลวต่าง ๆ ที่ร่างกายของผู้ป่วย เช่น เลือด อสุจิ สารคัดหลั่งในช่องคลอด หรือน้ำลาย

  • ทำร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ออกกำลังกาย ทานอาการที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ

อย่างไรก็ตามถึงตอนนี้จะยังไม่มีการประกาศของทางสาธารณสุข เป็นภาวะฉุกเฉิน แต่เราก็ควรที่จะระวังเพราะ เชื้อโรคมาได้กับทุกสิ่ง ถือว่าเป็นการตระหนักเพื่อไม่ให้ตื่นตระหนกเมื่อโรคเข้ามาใกล้ตัวนะคะ

ขอบคุณข้อมลจาก กรมควบคุมโรค

คลิปแนะนำอีจัน
นึกว่ามีแค่ในหนัง แก๊งค้ายา กดรีโมทเปลี่ยนป้ายทะเบียน