ขยะอีเวสต์ ทิ้งไม่ถูกที่ ไม่ถูกวิธี อันตรายกว่าที่คิด!

อันตรายกว่าที่คิด! ขยะอีเวสต์ ถ้าทิ้งไม่ถูกที่ ไม่ถูกวิธี ส่งผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ซ้ำก่อภาวะโลกร้อน

รู้ไหมว่า ขยะอีเวสต์ หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผุพัง หมดอายุการใช้งานไปแล้ว ถ้าทิ้งไม่ถูกที่ ไม่ถูกวิธี ขยะพวกนี้ก็ยิ่งเป็นปัจจัยสุมไฟให้เกิดภาวะโลกร้อนอีกด้วย!!!

ขยะอีเวสต์ คืออะไร?

เรียกกันง่ายๆ ให้เข้าใจทั่วไปว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือก็คือ เศษซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล้กทรอนิกส์ชนิดต่างๆ เช่น

– เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือนขนาดใหญ่ เช่น ตู้เย็น เครื่องทำความเย็น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน

– เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือนขนาดเล็ก เช่น เครื่องดูดฝุ่น เตารีด เครื่องปิ้งขนมปัง มีดโกนไฟฟ้า

– อุปกรณ์ไอที เช่น คอมพิวเตอร์ เมนเฟรม โน้ตบุค เครื่องสแกนภาพ เครื่องโทรสาร/โทรศัพท์ โทรศัพท์มือถือ

–  เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค เช่น วิทยุ โทรทัศน์ กล้อง และเครื่องบันทึกวิดีโอ เครื่องดนตรีที่ใช้ไฟฟ้า

– อุปกรณ์ให้แสงสว่าง เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ หลอดโซเดียม

– ระบบอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ เช่น เครื่องวัดความดันแบบดิจิทัล

– เครื่องมือวัดหรือควบคุมต่างๆ เช่น เครื่องตรวจจับควัน เครื่องควบคุมอุณหภูมิ

– ของเล่น เช่น เครื่องเล่นเกมแบบพกพา ของเล่นที่ใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

– เครื่องมือไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สว่าน เลื่อยไฟฟ้า

– เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เช่น ตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติ

แล้วถ้าทิ้ง ขยะอีเวสต์ หรือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ถูกที่ ไม่ถูกวิธี จะมีผลเสียยังไง?

เมื่อเราทิ้งของเสียอันตราย ซึ่งรวมถึงซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไปพร้อมกับขยะทั่วไป สารอันตรายและสารพิษต่างๆ อาจปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมเข้าสู่ระบบนิเวศและระบบห่วงโซ่อาหาร ผ่านทางดิน น้ำ และอากาศ ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ สัตว์ และพืช

ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นอกจากจะมีประเด็นปัญหาในเชิงปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นจากส่วนประกอบที่เป็นสารอันตราย เช่น สารตะกั่ว แคดเมียม ปรอท ฯลฯ ซึ่งหากได้รับการจัดการที่ไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมและมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและระบบนิเวศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

พิษของสารตะกั่ว

มีผลทำลายระบบประสาทส่วนกลางและระบบโลหิต การทำงานของไตและการสืบพันธุ์ มีผลต่อการพัฒนาสมองของเด็ก  นอกจากนี้ยังสามารถสะสมในบรรยากาศและเกิดผลแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรังกับพืช สัตว์และจุลินทรีย์

พิษของแคดเมียม

เมื่อเกิดการสะสมในร่างกาย โดยเฉพาะที่ไต ทำลายระบบประสาทส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กและภาวะตั้งครรภ์ และยังอาจมีผลต่อพันธุกรรม

พิษของสารทนไฟซึ่งทำจากโบรมีน

ส่งผลเสียต่อระบบการย่อย และน้ำเหลืองทำลายการทำงานของตับ มีผลต่อระบบประสาทและภูมิต้านทาน

พิษของสารเบริลเรียม

ผู้ได้รับสารนี้อย่างต่อเนื่องจากการสูดดมจะกลายเป็นโรค Beryllicosis ซึ่งมีผลกับปอด หากสัมผัสจะทำให้เกิดแผลที่ผิวหนังอย่างรุนแรง ทำให้ระบบการทำงานของต่อมไทรอยด์และต่อมไร้ท่อผิดปกติ

พิษของสารหนู

มีผลทำลายระบบประสาท ผิวหนังและระบบย่อยอาหาร หากได้รับในปริมาณมาก อาจถึงตายได้

พิษของนิกเกิล

ซึ่งจัดเป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลองและอาจเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งปอดในสัตว์ทดลอง และอาจมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ด้วย นอกจากนี้ผลเรื้อรังของการสัมผัสนิกเกิล จะทำให้เกิดการแพ้ของผิวหนัง

พิษของลิเทียม

เป็นอันตรายเมื่อกลืนกิน สูดดม  หรือถูกดูดซึมผ่านผิวหนัง สารนี้จะทำลายเนื้อเยื่อบุเมือกและทางเดินหายใจ  รวมทั้งดวงตาและผิวหนังอย่างรุนแรง การสูดดมอาจก่อให้เกิดอาการชัก กล่องเสียงและหลอดลมใหญ่อักเสบ  โรคปอดอักเสบ

พิษของโคบอลท์

เป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง การหายใจเข้าไปจะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกและทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการไอ หายใจติดขัด และหายใจถี่รั่ว และการสัมผัสสารนี้เป็นระยะเวลานานจะก่อให้เกิดการอักเสบของผิวหนัง ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบเลือด หัวใจ ต่อมไทรอยด์ และความผิดปกติของปอด

ดังนั้น การทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ ควรทิ้งให้ถูกวิธี ไม่นำซากไปเผา ฝังดิน หรือทิ้งในแหล่งน้ำ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

โดยสามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาฝากทิ้งกับ AIS ผ่านโครงการ คนไทยไร้ E-Waste ที่มีจุดรับทิ้งมากกว่า 2,500 จุดทั่วประเทศ หรือฝากทิ้งผ่านทางไปรษณีย์ที่มาส่งของที่หน้าบ้านได้ทันที โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพียงแค่นำ E-Waste ใส่กล่องพร้อมเขียนหน้ากล่องว่า “ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์” โดย AIS จะนำ E-Waste ทุกชิ้นเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและกำจัดอย่างถูกวิธีตามมาตรฐานสากลแบบ Zero Landfill เพื่อเป็นการช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศที่กำลังเผชิญอยู่

เช็กจุดทิ้ง E-Waste ของ AIS ได้ที่ https://m.ais.co.th/qxHg1gdhO