กินน้ำน้อย เสี่ยงเป็น นิ่วน้ำลาย

หมอโรงพยาบาลรามาฯ โพสต์เตือนภัยร้ายใกล้ตัว กินน้ำน้อย เสี่ยงเป็น นิ่วน้ำลาย

นิ่วท่อน้ำลาย ภัยร้ายคนกินน้ำน้อย

วันนี้ (3 มี.ค. 66) พญ.นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก เตือนภัย คนกินน้ำน้อย ระวังเป็น นิ่ว 

โดยระบุข้อความว่า

“ใครกินน้ำน้อย ระวัง นิ่วท่อน้ำลาย อาจมีอาการปวดเวลากินอาหาร โดยเฉพาะพวกเปรี้ยวๆ เวลาน้ำลายออก มักปวดบวมเพิ่มขึ้นได้ มักเป็นๆหายๆ ถ้าก้อนเล็กๆ สามารถส่องกล้องคีบออกได้ค่ะ พวกนี้ มีหลายปัจจัยเสี่ยงนะคะ”

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด นิ่วน้ำลาย หรือ นิ่วท่อน้ำลาย ได้แก่ ภาวะขาดน้ำ การใช้ยาบางชนิด (ในกลุ่มยาต้านฮีสตามีน ยาลดความดันโลหิต ยาทางจิตเวช และยาควมคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ) ตลอดจนการกระทบกระแทกหรือการบาดเจ็บของ ต่อมน้ำลาย ก็มีผลเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วน้ำลายด้วย

เมื่อมีนิ่วในต่อมน้ำลายหรือท่อน้ำลาย หรือทั้งคู่ จะเกิดท่อน้ำลายอุดตัน ทำให้น้ำลายไหลเปิดสู่ช่องปากไม่ได้ซึ่งพบนิ่วของต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกรมากที่สุดในจำนวนต่อมน้ำลายหลักทั้งสามคู่นี้ 

อาการของท่อน้ำลายอุดตัน คือมีอาการบวมใต้คาง เป็นๆหายๆ โดยเฉพาะเวลาที่จะกินอาหาร เนื่องจากน้ำลายที่ถูกสร้างไม่สามารถไหลออกมาได้ อาจมีอาการปวดร่วมด้วยเมื่อมีการคั่งของน้ำลายมากๆ รวมทั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนเมื่อมีการติดเชื้อ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบผนังท่อน้ำลาย และกลายเป็นฝีได้

นิ่วน้ำลายสามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้ โดยการดื่มน้ำมากๆ รักษาความสะอาดในช่องปากและฟัน กรณีมีปัญหา ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก เมื่อพบนิ่วขนาดเล็กในท่อน้ำลายส่วนปลาย การรักษาในขั้นตอนแรก หากมีการอักเสบ ให้ใช้ยาลดการอักเสบก่อน เมื่อการอักเสบลดลง เยื่อบุผนังท่อน้ำลายยุบบวม ท่อทางเดินน้ำลายจะกว้างขึ้นมาอยู่ในระดับปกติ และให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวเพื่อรักษาตนเอง โดยดื่มน้ำมากๆ ให้อมวิตามินซีหรือรับประทานของเปรี้ยวเพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำลาย และให้ประคบบริเวณคางที่บวมด้วยน้ำอุ่นพร้อมกับใช้มือรีดแก้มและคางจากบริเวณด้านข้างลงตามแนวแก้ม เพื่อกระตุ้นให้น้ำลายไหลสู่ช่องปากมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีนิ่วหลุดออกมาได้ แต่กรณีนิ่วไม่หลุดออกมาหรือนิ่วขนาดใหญ่ สามารถรักษาด้วยการผ่าตัด โดยคีบก้อนนิ่วออก รวมทั้งเปิดปากทางออกของท่อน้ำลายให้กว้างขึ้น หรืออาจผ่าตัดเอาต่อมน้ำลายข้างที่เป็นนิ่วออก

ขอบคุณข้อมูลจาก: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คลิปอีจันแนะนำ
40 ปีผ่าน แต่ยังหวานอยู่